ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย แถลงข่าว“โครงการทันตกรรมจัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย มูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ว่า อุบัติการณ์ของการคลอดทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ในประเทศไทย พบอุบัติการณ์ 1 ต่อการคลอดมีชีพ 800 ราย สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยและมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งโครงการ ช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อรวบรวมทันตแพทย์และทันตแพทย์จัดฟันที่สนใจที่จะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้
นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ทันตแพทย์กลุ่มนี้ได้เข้าร่วมทำงานในโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” จากการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่ามีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่จำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาทางด้านทันตกรรมจัดฟัน ดังนั้นจึงได้จัดโครงการ “ทันตกรรมจัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ขึ้น ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 โดยพาทันตแพทย์จัดฟันที่มีจิตอาสาไปจัดฟัน ไปดูแลสุขภาพในช่องปากแก่ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยลงพื้นที่เดือนละครั้ง และได้รับการสนับสนุนจาก สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สปสช.การดำเนินการว่า 1 ปี มีผู้ป่วย 47 คน
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แม้จะได้รับการรักษาฟรีก็ไม่มีค่าเดินทาง ทำให้กองทุนบริจาคช่วยค่าเดินทางของสภากาชาดไทยลดน้อยลงไป ดังนั้นในโอกาสอันเป็นมงคลครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยสมาคมฯ ได้มอบเงิน 100,000 บาท ให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการทันตกรรมจัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย จะเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งในการมุ่งทำความดีเพื่อช่วยเหลือสังคม ” นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศ กล่าว
ทางด้านนพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้านทันตกรรมจัดฟันของเด็กเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ โดยสปสช. ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยที่สภากาชาดไทยให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับการรักษา และอนุมัติให้ทันตแพทย์จัดฟันของสภากาชาดไทยไปช่วยในโครงการนี้ทุกครั้ง ซึ่งการที่สมาคมฯได้บริจาคเงินให้กับสภากาชาดไทยเพื่อใช้เป็นค่าเดินทางมารักษาของผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
“ขอบคุณความตั้งใจที่ดีของสมาคมมา ณ โอกาสนี้ด้วย ซึ่งความพิการปากแหว่งเพดานโหว่สามารถรักษาได้ แต่ขั้นตอนของการรักษามีมากตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะที่หมดการเจริญเติบโตของใบหน้าและขากรรไกร ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลายาวนานคือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 19-20 ปี ให้การดูแลให้การรักษายังต้องมีบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆร่วมด้วย ทั้งกุมารแพทย์ ทันตแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน ศัลยแพทย์ตกแต่ง โสต ศอ นาสิกแพทย์ ศัลยแพทย์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย พยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักพันธุกรรมศาสตร์ เป็นต้น” นพ.พิชิต กล่าว
ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาความพิการจากการป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ถูกบรรจุอยู่ในสิทธิของหลักประกันสุขภาพ โดยดำเนินการในรูปแบบของโครงการพัฒนาดูแลรักษาฟื้นฟู การแก้ไขการพูด ทันตกรรมจัดฟัน และการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่แต่เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครบวงจรต่อเนื่องเร็วขึ้น จากแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ทั้งศัลยกรรม ทันตกรรม การฝึกการแก้ไขการพูด จึงได้ประสานงานเพื่อให้เกิดเครือข่ายร่วมกันทำงานในกลุ่มแพทย์และวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีผู้ที่ต้องรับการจัดฟันเพื่อการพูดประมาณ 300 คน การฝึกพูด 600 คน และตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา สปสช.ร่วมสภากาชาดไทย จัดโครงการยิ้มสวยเสียงใส เพื่อร่วมกันผ่าตัดแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ โดยใช้งบประมาณปีละ 10 ล้านบาท
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจบริจาคให้กับสภากาชาดไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย (โครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการอื่น) เลขที่ 045-2-88000-6 โอนเงินแล้ว Fax สำเนาการโอนมาที่ 02-2564069 หรือ 02-2564064 พร้อมชื่อ ที่อยู่ของผู้บริจาค มายังสภากาชาดไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น