วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความยุติธรรม- สิทธิ คลี่ปมปัญหาใต้

กว่า 60 ปีผ่านไป...ปมปัญหาไฟใต้ที่ลุกลามบานปลายดูเหมือนว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเรียกร้องความยุติธรรม...สิทธิ...ความชอบธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในโลกประชาธิปไตย

เพชรดาว

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตเขต 15 (ปัตตานี) กระทรวงสาธารณสุข สรุปประเด็นสำคัญนี้เอาไว้บนเวทีเสวนา “สันติธานี” วิถีวัฒนธรรมสู่ทางออกชายแดนใต้?งานศึกษาวิจัยของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง  การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4ส2) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าซึ่งต้องเน้นย้ำว่า  แม้จะพูดผ่านมานานนับเดือนแล้ว  แต่เนื้อหาสาระยังเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาความรุนแรงให้ทุเลาเบาบางลงไปได้“สันติธานี” หรือ “Santithani” ความหมายโดยรวม คือ เมืองที่ประชาชนมีความปลอดภัย ตั้งมั่นบนหลักแห่งความถูกต้อง จริงใจ ปราศจากอคติและเปิดใจยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ด้วยความเมตตาและ รอยยิ้มแก่กันเป็น...เมืองที่ประชาชนสามารถเรียนรู้ คิดด้วยภูมิปัญญาแห่งตน เพื่อพัฒนามาตุภูมิอันเป็นที่รัก ถักทอด้วยสายใยแห่งมิตรภาพแห่งความเชื่อมั่น ในกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่แบ่งแยกเพชรดาว บอกว่า พลังประชาชนในอดีตที่ออกมาเรียกร้อง บอกให้เรารู้ว่า  แม้พลังนั้นจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจกฎหมายของประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสื่อมศรัทธาต่อความเป็นมุสลิมบ้านเกิดแต่อย่างใดคุณพ่อเด่นเล่าให้ฟังว่า “วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2497 วันนั้น...มีตำรวจสันติบาลเชิญไปที่สงขลาให้เอาล่ามไปด้วย พี่ชายคนโต อาหมัด โต๊ะมีนา ก็ไปทำหน้าที่ล่าม ไปกันแต่เช้ามืด นั่งรถแท็กซี่กันไป...หลังจากนั้นมีคนเห็นคุณปู่หะยี สุหลงฯ กับคณะอีกครั้งที่จังหวัดสงขลา แล้วก็ไม่มีใครพบท่านอีกเลย”การหายไปของคุณปู่ พร้อมกับการกล่าวหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยก ดินแดน ทั้งๆที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชไต่สวนแล้วว่ามีความผิด ฐานหมิ่นประมาทรัฐบาลไทยเท่านั้น“ถ้ามองอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องทั้ง 7 ข้อในกรณีที่เกิดขึ้นนี้...เป็นเพียงการร้องขอสิทธิในการที่จะมีส่วนร่วมที่จะกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใดเลย”กว่า 60 ปีที่ผ่านมากับเสียงเรียกร้องจากพี่น้องชาวมลายูมุสลิม ผ่านไปยังรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ยังคงเรียกร้องต่อไปท่ามกลางความสูญเสียตั้งแต่อดีต...ผ่านมาถึงวันนี้ มีผู้คนเจ็บตายไปแล้วมากมายแต่...สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ ความต้องการของคนในพื้นที่ ที่ยังมีความต้องการ มีความเป็นตัวของตัวเอง...มีความอิสระในเชิงอัตลักษณ์และความเป็นธรรมความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างในวันนี้คือ ความเป็นประชาธิปไตยที่มีมากขึ้น แต่ต้องถามกลับไปว่า วิธีการแก้ไขปัญหา คลี่คลายความคับแค้น ยังใช้วิธีการเดิมๆแก้ปัญหาแบบเดิมๆกันอยู่หรือไม่?“สันติธานีโดยวิถีวัฒนธรรม นำการเมือง การปกครอง...เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่”

พงษ์ศักดิ์

พงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เสริมว่า  ความไม่เข้าใจส่งผลต่อการทำงานปฏิบัติหน้าที่...ทำให้เกิดความคับข้องใจ กระทั่งนำไปสู่ความไม่สบายใจ จนเกิดสิ่งต่างๆที่ตามมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น อาจมองได้ 2 ภาพ...ภาพแรก การต่อสู้เรียกร้องพี่น้องมุสลิมในแนวทางสันติ ดังในอดีตที่ผ่านมา ภาพที่สอง...เป็นแนวทางการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจากความคับข้องใจด้วยกำลังอาวุธเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พงษ์ศักดิ์พูดในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยที่เกิดโตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภาพในวัยเยาว์ที่ยังชัดเจนมาจนถึงวันนี้ หลายคนที่เคยไปยะลาคงจะนึกภาพออกว่าเป็นพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ครอบครัวเรารายล้อมด้วยครอบครัวพี่น้องมุสลิม  เราใช้บ่อน้ำร่วมกัน ช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำธุรกิจ ไม่มีเวลาดูแล สิ่งที่ได้รับเรียกว่าเป็นความผูกพัน ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลาก็คือ “เมาะ” ที่คอยดูแลเสมือนเป็นแม่นม“สิ่งเหล่านี้นั้นได้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน หลอมรวมกันมาอย่างเหนียวแน่น ในวันสำคัญ ไม่ว่าเทศกาลตรุษจีน พวกเราก็นำสิ่งของที่เรียกว่าแต๊ะเอียมอบให้กับลูกหลานพี่น้องมุสลิม ในทางกลับกัน ในช่วงวันรายอ ถือว่าเป็นวันสุดท้ายของการละศีลอด  พวกเราก็ได้รับสิ่งต่างๆอย่างมากมายจากพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่”เหล่านี้เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ที่อยู่ในระดับครอบครัว ซึ่งคิดว่ามีความสำคัญต่อเนื่องไปถึงความสัมพันธ์ในสถานที่ทำงาน คนพุทธ คนมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน...อยู่กันด้วยความห่วงหาอาทร ใครก็ตามที่บาดเจ็บจากการทำงานก็ได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง ไม่เคยทอดทิ้งกันในแง่สังคมก็เช่นเดียวกัน เราเห็นภาพในการก่อสร้างมัสยิด เห็นพี่น้องชาวไทยพุทธรวบรวมเม็ดเงินเป็นขบวนแห่ไปมอบให้มัสยิดต่างๆ เพื่อเป็นการสมทบทุนในการก่อสร้าง ในทำนองกลับกันประเพณีของชาวไทยพุทธ ก็มีแม่ครัวที่เป็นพี่น้องมุสลิมเข้าไปหุงหาอาหารในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม“สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นที่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ขยายไปสู่ระดับสังคม...แต่หลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา  เหตุการณ์ต่างๆได้แปรเปลี่ยนไป...”ภาพความรุนแรงในอดีตจะเห็นเฉพาะการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แต่วันนี้ผู้บริสุทธิ์ แม้แต่เด็ก สตรี คนชรา...ก็ต่างตกเป็นเหยื่อ หนำซ้ำบางครั้งผู้นำศาสนาก็ถูกทำร้ายอย่างทารุณเช่นเดียวกัน...พระภิกษุสงฆ์ก็ถูกทำร้าย เป็นสิ่งที่คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างไม่สบายใจ แต่ทุกครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะคิดเหมือนกันทุกครั้ง คล้อยหลัง 2-3 เดือนเหตุการณ์ก็คงจะสงบไป  แต่ความคิดนั้นเรารอคอยกันมานาน 8 ปี...ความสูญเสียเกิดขึ้นมากมายภาพที่เกิดขึ้นไม่ว่าวิถีชีวิต ทรัพย์สินต่างๆที่เสียหาย เป็นสิ่งที่เราไม่เคยลืมเลือน อย่างไรก็ตาม พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ก็ยังมีความหวังและเชื่อว่า สายใยแห่งความผูกพันในอดีตที่พวกเรามีให้แก่กัน ยังคงยึดมั่น...ยังคงถือเป็นภาพรวมร่วมกันเพราะฉะนั้น แนวทางสันติวิธีหรือแนวทางสันติธานี ที่ได้นำวิถีวัฒนธรรมเข้ามาเป็นหลักในการคลี่คลายเงื่อนปัญหา คงจะเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับไปสู่สันติสุขเหมือนที่พวกเราเคยอยู่ร่วมกันในอดีต“สันติธานี” กับบทสรุปและความคาดหวัง จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว...สิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง คือ...ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในพื้นที่ส่วนใดของโลก ก็ควรจะได้รับการตอบสนองเส้นทางสันติธานี แน่นอนว่า...ย่อมมีปัญหาอุปสรรค  เพราะเป็น รูปแบบที่ใช้กับคนท้องถิ่น ซึ่งมีอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทั้งยังเป็นการนำไปใช้แก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนการดำเนินการใดๆต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบ...เพราะอาจไปกระทบกับวิถีวัฒนธรรมของคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ก็ตาม“คงไม่มียาวิเศษชนิดหนึ่งชนิดใด ที่จะสามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในชั่วข้ามคืน ปัญหาที่มีความรุนแรงและมีหลายมิติทับซ้อนเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยแนวทาง... มาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ  พร้อมๆไปกับความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในประเทศไทย”.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม