"แม่น้ำโขง" แม่น้ำสายสำคัญที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในหลายประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน รวมทั้งพื้นที่ในประเทศที่แม้ห่างไกลจากลำน้ำแห่งนี้ แต่ก็ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พลังงานไฟฟ้า การประมง และการคมนาคมขนส่งสินค้า จนเกิดความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกอบด้วย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และไทย
ในความเป็นจริงแล้ว การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบบการปกครอง สภาพสังคมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นเรื่องยากยิ่ง อุปสรรคในอันดับต้นๆ ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ ล้วนเป็นเรื่องทัศนคติ มุมมอง และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกและความร่วมมือพัฒนาในอนุภูมิภาค ตลอดจนการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อนมิตรสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นกิจกรรมเยาวชนสัมพันธ์ โดยนำนักเรียนนักศึกษาตัวแทนในประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศมาใช้ชีวิตร่วมกัน และร่วมเดินทางในเส้นทางที่เชื่อมโยงประเทศระหว่างกันไปยังสถานที่สำคัญในกลุ่มประเทศตนเอง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้วัฒนธรรมที่เหมือนและต่าง นำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ต่อไป
นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า โครงการเพื่อนมิตรสุวรรณภูมิ เป็นหนึ่งกลยุทธ์การดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ที่มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระดับประชาชนกับประชาชน เพื่อแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ โดยจะไม่นำประวัติศาสตร์มากำหนดอนาคต เพราะเด็กรุ่นใหม่บริสุทธ์เกินกว่าจะเข้าใจเหตุการณ์การที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งมีเวทีและกลไกที่ใช้แก้ไขปัญหาอยู่แล้ว
ด้านนายเอียง มหฤทธิ์ นักศึกษาปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนมิตรสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ตัวแทนเยาวชนที่ร่วมโครงการ ทุกคนล้วนมีอัธยาศัยดี มีความรู้ความสามารถ น้ำใจ และรู้จักช่วยเหลือกัน ทั้งยังสัมผัสได้ว่า แม้มาจากประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสภาพสังคม เศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยังมีคล้ายคลึงกันอยู่ ด้วยเราเป็นประเทศในอนุภูมิภาคเดียวกัน เชื่อว่าโครงการนี้เป็นจุดริเริ่มที่น่าสนใจ ช่วยปลูกฝังความคิดใหม่ให้แก่คนรุ่นใหม่ และนำความคิดเหล่านี้ไปบอกต่อพ่อแม่คนใกล้ชิดในสังคมของตัวเอง ได้เห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และมีมิตรภาพอันดีกับคนในภูมิภาคเดียวกัน
ส่วนปมขัดแย้งระหว่างกัน อาทิ ประเด็นพิพาทบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ปัญหาเรื่องเขตแดน ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตไทย และการนำการเมืองมาปลุกปั่นกระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้น
นายเอียง มองเรื่องนี้ว่า ตนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนมองในมุมของความเหมือน ซึ่งแน่นอนว่า การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า แล้วจากที่ผมได้เดินทางมาไทยทำให้เห็นว่า ที่นี่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และอยากให้นำความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่มาช่วยพัฒนาประเทศกัมพูชาให้เจริญก้าวหน้าบ้าง
"เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน อดีตก็คืออดีต เราไม่สามารถย้อนกลับได้ แต่เราควรมองไปข้างหน้า และร่วมมือกันทำในวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อนำพาความก้าวหน้ามาสู่ภูมิภาค โดยการเรียนรู้อดีต จะทำให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง" หนุ่มนักศึกษากัมพูชากล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น