วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อิหร่านกล่าวหาสหรัฐ-กองกำลังต่างชาติเป็นภัยคุกคาม

อิหร่านฉวยโอกาสที่เรือรบสหรัฐยิงเรือประมงลำหนึ่งนอกชายฝั่งของดูไบในอ่าวเปอร์เซียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บ 3 คน กล่าวหาสหรัฐว่าเหตุที่เกิดขึ้นแสดงว่ากองกำลังต่างชาติเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตะวันออกกลาง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่เรือของสหรัฐกำลังลาดตระเวนในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเรือของสหรัฐใช้ปืนกลขนาด .50 มม. ยิงเรือประมง หลังจากเรือลำนี้ไม่สนใจคำเตือนและใช้ความเร็วเต็มที่พุ่งเข้าใกล้เรือยูเอสเอ็นเอส รัปปาฮันน็อค ซึ่งเป็นเรือเติมเชื้อเพลิงของกองทัพเรือสหรัฐ มากเกินไป

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กล่าวว่า เรือที่ถูกยิงเป็นเรือประมงของพลเรือน ผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นชาวอินเดีย และอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บ

นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในอ่าวเปอร์เซียตั้งแต่อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นจุดเข้าออกระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับทะเลอาหรับ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่มีปริมาณถึง 40% ของโลก และก่อนหน้านี้อิหร่านมักใช้เรือขนาดเล็กความเร็วสูงข่มขู่เรือสหรัฐที่กำลังลาดตระเวนอยู่เสมอ

นายรามิน เมห์มานพาราสท์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน บอกว่า อิหร่านได้ประกาศมาหลายครั้งแล้วว่า กองกำลังต่างชาติเป็นภัยต่อความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ดังนั้น ชาติต่างๆในภูมิภาคนี้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในการปกป้องความมั่นคงหากใช้ศักยภาพที่แต่ละชาติมีอยู่ร่วมมือกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังจากต่างชาติ

เหตุการณ์ยิงเรือดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้เมืองท่าเจเบล อาลี ของยูเออี ซึ่งอยู่ใกล้กับน่านน้ำอิหร่าน ขณะที่ทางการอินเดียกำลังร่วมมือกับทางการยูเออีในการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐไม่ได้ระบุว่าเรือประมงที่ถูกยิงเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายหรือเชื่อมโยงกับอิหร่าน นอกจากนี้ แนนซี่ พาวเวลล์ ทูตสหรัฐประจำอินเดีย ได้โทรศัพท์ไปแสดงความเสียใจกับนายรันจัน มาไทย ปลัดกระทรวงต่างประเทศอินเดีย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของลูกเรือชาวอินเดียด้วย

นายเมห์มานพาราสท์ระบุว่า คำขู่ของอิหร่านเรื่องการจะปิดช่องแคบฮอร์มุซนั้นก็เพื่อเป็นมาตรการป้องกันภัยคุกคามจากชาติต่างๆที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและคุกคามแหล่งพลังงานของโลก

สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศมาตรการห้ามชาติสมาชิกอียูซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แม้อิหร่านอ้างว่ามาตรการคว่ำบาตรไม่มีผลกระทบใดๆ แต่วงการค้าน้ำมันโลกยืนยันว่า อิหร่านมีน้ำมันเหลือค้างสต็อกจำนวนมากจนต้องลดปริมาณการผลิตเหลือวันละไม่เกิน 1.5 ล้านบาร์เรล จากที่เคยผลิตได้วันละกว่า 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งทางออกในขณะนี้ก็คือขายน้ำมันให้แก่ชาติที่ยังต้องการ ซึ่งก็มีจำนวนมาก แม้ปริมาณการสั่งซื้อจะไม่มากเท่ากับที่เคยขายให้กับชาติใหญ่ๆก็ตาม



www.dailyworldtoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม