วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เยาวชน 3 อาร์ มุมมองรุ่นใหม่ แก้ปัญหาน้ำท่วม

ปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ในแวดวงเรื่องน้ำระดับโลกมีการจัดเวทีกันที่ประเทศสิงคโปร์ ในชื่อ สิงคโปร์ อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ วีค (SIWW 2012) ซึ่งเป็นทั้งเวทีสัมมนา แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากประเทศไทยไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย และทาง อีสท์วอเตอร์ หรือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ก็ได้นำ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในชื่อกลุ่ม “Biot-Agro PSU” ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศโครงการประกวดนวัตกรรมจัดการน้ำด้วยหลัก 3อาร์ (3อาร์) ปี 2 ไปทัศนศึกษาดูงานเพื่อเก็บข้อมูลมาต่อยอดอีกด้วย ซึ่งวันนี้ลอง

มาดูมุมมองในเรื่องเกี่ยวกับน้ำของเยาวชนไทยกลุ่มนี้กัน

นอกจากได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์ เยาวชนไทยกลุ่มนี้ยังได้รับความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล กับผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน ซึ่งก็จัดเป็นถาดความรู้ชุดใหญ่ที่ได้รับ นอกเหนือจากการได้เปิดประสบการณ์ในต่างแดน

“รู้สึกชื่นชมการจัดการของเขามาก สิงคโปร์มีทรัพยากรน้ำจำกัด เขาจึงยอมลงทุนและเอาจริงเอาจัง กับถือว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เวลาที่เขาคิดจัดการโครงการอะไร ทุกคนในประเทศจึงมีส่วนร่วมรับผิดชอบเท่ากันหมด ตรงนี้ผมว่าน่าสนใจ” เป็นเสียงของ ศราวุฒิ แดงสุทัศนีย์ สมาชิกทีม Biot-Agro PSU

เยาวชนไทยรายนี้เผยกับทีม “วิถีชีวิต” หลังเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์ ซึ่งเขายังกล่าวอีกว่า ในแง่ของการบำบัดน้ำเสีย ถ้ามองที่ระบบ ถือว่าไม่ทิ้งกันนักกับไทย เพียงแต่จุดเด่นที่เหนือกว่าคือการที่สามารถบำบัดน้ำเสียจนสามารถนำกลับมาผลิตเป็นน้ำดื่มได้ ซึ่งมองว่าการที่สิงคโปร์ต้องลงทุนมาก เพราะมีปัญหามากกว่าไทย แต่อีกเรื่องที่ยิ่งน่าสนใจคือ การบริหารจัดการคน ซึ่งต้องยอมรับว่าสิงคโปร์โดดเด่นมาก และนี่อาจเป็นเหตุผลของความสำเร็จ

ด้าน พิพัฒน์ จันทร์ประดิษฐ์ สมาชิกอีกคนของทีม กล่าวว่า สิ่งที่น่าตกใจคือสิงคโปร์ดูจะตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษเรื่องน้ำ ซึ่งโครงการใหญ่ ๆ สามารถทำให้สำเร็จได้ คงไม่ได้เกิดจากปัจจัยเรื่องเงินหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเกิดจากคนและการศึกษาด้วย จากที่รับทราบข้อมูลพบว่าสิงคโปร์ได้ลงไปทำความเข้าใจและให้ข้อมูลแก่ประชาชนในทุกระดับ ทำให้เด็กและเยาวชนรับทราบปัญหาและข้อจำกัด จึงทำให้กระบวนการปลูกฝังจิตสำนึกมีประสิทธิภาพมาก

“เขามองกันไปที่อนาคต คือคิดแก้ปัญหาระยะยาว คนรุ่นนี้คิดหาวิธีแก้ปัญหาที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ต่อจากเขาไม่ต้องเผชิญปัญหาเหมือนกับคนรุ่นก่อน ไทยเราคงไม่ต้องถึงกับเดินตามเขาไปถึงขั้นนำน้ำเสียมาบำบัดจนเป็นน้ำดื่ม ขอแค่ให้มีความเข้มแข็งในการลดน้ำเสียก็น่าจะเพียงพอแล้ว” เป็นมุมมองของพิพัฒน์

ขณะที่ อธิราชย์ เริงณรงค์ อีกหนึ่งในสมาชิกทีม Biot-Agro PSU บอกกับเราว่า การที่สิงคโปร์ผลักดันเรื่องน้ำอย่างเต็มที่ได้ เป็นเพราะเขามีปัญหา มีข้อจำกัด ทำให้มีความรู้สึกร่วม จึงทำให้ผลักดันหรือเดินหน้าเรื่องน้ำได้อย่างเต็มที่ และนอกจากการศึกษาและทุนที่รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมสนับสนุนเต็มที่แล้ว เรื่องกฎหมายควบคุมก็เป็นอีกจุดที่เข้มแข็งและน่าสนใจมาก เพราะทำให้กระบวนการทั้งหมดเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังใช้กฎหมายในการควบคุมหรือลดปัญหาให้น้อยลงไปในขณะเดียวกันด้วย

ประเทศไทยก็ควรนำเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา

“เราไม่ทราบว่าการที่คนของเขาปฏิบัติอย่างเข้มงวดนั้น เกิดจากความสำเร็จในการปลูกจิตสำนึกทั้งหมดหรือไม่ แต่สิ่งที่เรารู้คือ กฎหมายเขาเข้มแข็งมาก ซึ่งความที่กฎหมายเข้มแข็งก็ย่อมกำหนดและทำให้คนของเขาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตรงนี้น่าสนใจมากครับ” อธิราชย์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถาม ไถ่ความรู้สึกในเรื่องทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เยาวชนไทยกลุ่มนี้ก็ให้ความเห็นหลากหลาย โดย พิพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรน้ำมากกว่าสิงคโปร์ก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณการใช้น้ำก็มีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็นำมาสู่ปัญหาในเรื่องของ น้ำเสีย ดังนั้นหากเราไม่มีการจัดการหรือหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่ดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการขาดน้ำขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับ ศราวุฒิ แสดงทรรศนะว่า ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและความเอาจริงเอาจังในเรื่องน้ำ จนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ขณะที่ในประเทศไทยเรามองการบริหารจัดการเรื่องน้ำนี้ยังมีปัญหาในบางส่วน ในประเทศไทยเราการบริหารจัดการเรื่องน้ำยังไม่จริงจัง ยังไม่เข้มแข็งมากพอ

e e e e e

“บางทีเราอาจมีมุมมองที่ผิดไปในเรื่องนี้นะครับ คือเราอาจมองว่าการอนุรักษ์เป็นแค่เรื่องของการลดน้ำเสียเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ครบ เพราะความจริงแล้ว
เราต้องมองด้วยว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เราสามารถใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดด้วย” ส่วนนี่เป็นมุมมองน่าคิด ที่ อธิราชย์ สะกิดทิ้งท้ายไว้

“เรื่องเกี่ยวกับน้ำ” ในประเทศไทยนับวันก็จะเกิดประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ ๆ ซึ่งมิใช่มีเพียงประเด็นปัญหา น้ำท่วม การที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างได้ผล คงมองเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ คงต้องมองมุมกว้าง

และเยาวชนไทยที่ตระหนักถึงเรื่องน้ำในวันนี้ ก็จะเป็นพลังที่สำคัญที่ทำให้ไทยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในวันหน้า.

ความหวัง ทำ...ไม่แค่คิด

“สิงคโปร์กับประเทศไทย แนวคิดในเรื่องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเรียกได้ว่าแทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะหลักการที่เขาใช้ก็คือ หลักการ 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) นำมาใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่เราเองก็ส่งเสริมอยู่ เพียงแต่ว่าของเรายังไม่ค่อยนำมาใช้กันอย่างจริงจังเท่านั้นเอง”

เป็นมุมมองของ ประพันธ์ อัศววารี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวกับน้ำยังบอกอีกว่า การที่สิงคโปร์ผลักดันตัวเองขึ้นมาในเรื่องน้ำก็เพราะเห็นปัญหา ซึ่งการนำคนไทยรุ่นใหม่ดูงานเรื่องน้ำของสิงคโปร์ ก็เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักในปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหากเรายังไม่เร่งปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องนี้ โดยอีสท์วอเตอร์ก็พยายามส่งเสริมผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งโครงการประกวดนวัตกรรมจัดการน้ำด้วย 3R ก็เป็นอีกรูปแบบการพยายามผลักดัน โดยต้องการให้เกิดการคิดค้นใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์จริง ๆ

“สิ่งที่เราทำอยู่วันนี้เราอาจไม่ได้เห็น แต่กับคนรุ่นใหม่ต่อจากเราไปเขาจะได้ประโยชน์ วันนี้มันไม่ใช่แค่การคิดสำหรับตัวเราเองแล้วล่ะ แต่ต้องคิดถึงคนรุ่นต่อจากเรา ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องมาเจอปัญหาแบบเดียวกับคนในรุ่นเรา และเราก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพที่จะทำได้ดี”...ประพันธ์กล่าวทิ้งท้าย


www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม