วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกาะกรีนแลนด์ ละลายรวดเร็ว เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 97% เพียง 4 วัน

นาซาเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ของเกาะกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว โดยกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การละลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณกว้างที่เคยมีการใช้ดาวเทียมสำรวจเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ทั้งยังเกิดขึ้นในจุดที่มีความหนาวเย็นที่สุด และสูงที่สุดของเกาะที่เรียกว่า"ซัมมิต สเตชัน"

จากภาพดาวเทียม Oceansat-2 ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พบว่าพื้นที่ที่มีการละลายของแผ่นน้ำแข็ง เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 97% เพียง 4 วันจากวันที่ 8 ก.ค.

แม้ว่าครึ่งหนึ่งของแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ จะละลายเป็นปกติในช่วงฤดูร้อนของทุกปีก็ตาม แต่มันก็จะกลับมาแข็งตัวอีกครั้งไม่นานหลังจากนั้น และความเร็วและขนาดของการละลายสร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า "ผิดธรรมดา"

นาซากล่าวว่า เกือบทั้งหมดของน้ำแข็งที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์ เเริ่มพบระดับละลายบริเวณผิวหน้าในบางจุดแล้ว นายวาลีด อับดาลาติ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของนาซาเผยว่า เมื่อนาซาพบการละลายในจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้หลายฝ่ายเกิดการตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และเป็นสัญญาณที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคาดคิดกำลังจะมาถึง

เขากล่าวว่า เนื่องจากการละลายที่กินพื้นที่กว้างเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นาซาจึงยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นนานๆครั้งหรือไม่ หรือเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ เริ่มกลับมาแข็งตัวอีกครั้งบ้างแล้ว กระทั่งปัจจุบัน พื้นที่การละลายที่ขยายตัวออกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 55% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยบันทึกการละลายครั้งสุดท้ายที่ซัมมิต สเตชัน เกิดขึ้นเมื่อปี 1889

เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้น หลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน นาซาได้เผยภาพของธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์ ทางตอนเหนือของกรีนแลนด์ ที่มีแผ่นน้ำแข็งแตกออกมีขนาดเป็น 2 เท่าของเกาะแมนฮัตตัน



www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม