วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำลายช่องว่าง ประชาชน - นักวิจัย

มิติใหม่ วช. นำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555 ให้ความรู้แถมทุนวิจัยถึงมือชาวบ้าน“วิจัยเพื่อการเรียนรู้ สู่การใช้ประโยชน์”

คือหัวใจของงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555 หรือ Thailand Research Expo 2012 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งถือเป็นมหกรรมการรวบรวมและนำเสนอผลงานวิจัยของทุกสำนักวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

เพราะการวิจัยถือเป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้เพื่อนำไปสู่การป้องกันหรือช่วยแก้ไขของปัญหาต่างๆที่มนุษย์ยังไม่รู้และต้องการแสวงหาคำตอบ

ดังนั้น ชนชาติใดที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยย่อมมีผลทำให้ชนชาตินั้นๆ มีความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาและเป็นชนชาติที่มีความเข้มแข็งในทุกๆด้าน

แต่สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา ต้องยอมรับความจริงว่า การวิจัยและผลงานวิจัยของนักวิจัย มีความห่างเหินจากความรู้สึก หรือความต้องการของสังคมและประชาชนค่อนข้างมาก ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถหยิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ “ช่องว่าง” ระหว่าง “นักวิจัย” กับ “ชาวบ้าน”

“งานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ที่ผ่านมา จัดงานโดยไม่เคยสนใจเลยว่าใครจะได้หรือใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย กลายเป็นงานที่นักวิจัยพูดเอง ฟังเอง รู้เอง” นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุแน่นอน ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้

ซึ่ง นพ.สุทธิพรระบุว่า เป็นจุดอ่อนของนักวิจัยที่มีปัญหาสื่อสารไม่รู้เรื่อง

“80% ของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยคุยไม่รู้เรื่อง  เขียนงานวิจัยอยู่บนหิ้ง  เพราะมีปัญหาเรื่องการอธิบายงานของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจ คือ ตั้งใจทำงานอย่างเดียว โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งเป็นผลเสียว่า สังคมไม่เข้าใจว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ แม้ว่าหลายงานที่กำลังทำอยู่ หากทำสำเร็จจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือมวลมนุษยชาติอย่างสูงก็ตาม  เรื่องนี้ วช.ได้หาทางออก โดย ต่อไปนี้ วช.จะทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์ คือ จะเป็นคนกลางระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เพื่อคอยอธิบายสิ่งที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กำลังทำอยู่ให้ประชาชนเข้าใจ หรือเรียกว่า นักจัดการงานวิจัยและคำว่าประชาชนในที่นี้ หมายถึง ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้อง การนำงานวิจัยนั้นๆ ไปใช้ประโยชน์ด้วย” นพ.สุทธิพร กล่าว

งานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555 หรือ Thailand Research Expo 2012 จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหานี้ได้  เพราะจะเป็นงานแรกที่นักวิจัยจากทุกสำนักทั่วประเทศไทย จะนำเสนอผลงานวิจัยด้วยภาษาง่ายๆ คำพูดง่ายๆ มีผลงานวิจัยที่จับต้องได้ที่สำคัญต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

ขณะเดียวกันจะมีการเปิดตัว “ฐานข้อมูลวิจัยของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็นการรวบรวมงานวิจัยของทุกสำนักวิจัยในประเทศไทยมาไว้ในฐานข้อมูลวิจัยของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้

รวมถึงการเปิดตัว “ห้องสมุดงานวิจัยสาธารณะ” ที่ จะมีข้อมูลงานวิจัยซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเป็นข้อความสั้นๆ ประมาณ 5 บรรทัด อธิบายง่ายๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเลือกค้นคว้าในหัวข้อหรือสิ่งที่สนใจ

ที่สำคัญงานนี้ จะเป็นครั้งแรกของประเทศ ไทยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้านแท้ๆ ที่มีความประสงค์จะขอรับทุนสนับสนุนการทำวิจัยสามารถลงชื่อขอรับ ทุนได้ภายในงานด้วย


“การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้านขอรับ ทุนสนับสนุนวิจัยได้ เนื่อง จากก่อนหน้านี้ วช.ได้รับพระราชทานแนวความคิดจาก สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า หน่วยงานวิจัยของรัฐ ทำวิจัยไม่เหมือนฉัน ที่ผ่านมาชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปขอทุนวิจัยได้ไหม ก็ไม่ได้ มีแต่นักวิจัย นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ขณะเดียวกันราชการเองก็มักจะสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเฉพาะนักวิจัยของสถานศึกษา หรือหน่วยงานราชการกันเองเท่านั้น  แต่ประชาชนไม่ค่อยมีโอกาสได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ทำงานเลย ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงเห็นปัญหาว่าคนที่ทำงานภาคสนามหรือทำงานในพื้นที่ที่เป็นชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปควรได้รับทุนวิจัยมากกว่า” เลขาธิการ วช. ระบุถึงการน้อมนำแนวความคิดที่ได้รับพระราชทานมาสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

สำหรับงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีการนำผลงานวิจัยในหลากหลายประเด็นมากกว่า 100 เรื่อง จากนักวิจัยกว่า 1,000 คน ใน 7 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. งานวิจัยเพื่อนำสู่ประชาคมอาเซียน 2.งานวิจัยเพื่อโลกสีเขียว 3.งานวิจัยเพื่อการเกษตร 4.งานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิต 5.งานวิจัยเพื่อรองรับภัยพิบัติ 6.งานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม  และ  7.งานวิจัยเพื่อเทคโนโลยีและโรคอุบัติใหม่

“แต่ที่เน้นที่สุดคืองานวิจัยที่ตอบสนองปัญหาอุทก-ภัยและภัยพิบัติ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับน้ำท่วม และสามารถนำงานวิจัยไปใช้ได้ทันที  เพราะประเทศไทยคงหนีปัญหาเรื่องน้ำไม่พ้น” นพ.สุทธิพร กล่าว

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” เชื่อมั่นว่า หากแนวทางที่ วช. ตั้งธงในการทำหน้าที่เป็น กาวใจ หรือ โซ่เส้นกลาง ที่เชื่อมต่อประสานสร้างความเข้าใจระหว่าง นักวิจัย กับชาวบ้าน ตลอดจนการเปิดกว้างให้ทุนกับชาวบ้านเพื่อทำการวิจัยคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้จริงแล้ว

ถึงวันนั้นการรวมพลังมันสมองของนักวิจัยรุ่นใหม่กับภูมิปัญญาชาวบ้านแบบไทยๆ อาจก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งรุมเร้าสังคมและมนุษยชาติได้อย่างเหลือเชื่อ.



www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม