วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไทยเกิดระเบิดมากที่สุดในอาเซียน

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงแรมมิลาเคิล แกรนด์ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานการสัมมนาผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่องานสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 1 โดยมีพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ บรรยายหัวข้อนิติวิทยาศาสตร์เพื่องานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า ปัจจุบันระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ของไทยยังขาดระบบมาตรฐานกลางที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติ และหน่วยงานหลักในการดูแลรวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ และเนื่องจากประเทศไทยจะกำลังจะเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนจึงต้องมีการปรับมาตรฐานของนิติวิทยาศาสตร์สำคัญทั้งการตรวจพิสูจน์ศพนิรนาม ซึ่งผู้ตรวจต้องมีประสบการณ์ ความรู้ โดยเมื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องมีมาตรฐานระดับเดียวกันเพราะอาเซียนกำหนดให้ประเทศที่เป็นสมาชิกผู้ปฎิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ต้องมีองค์ความรู้ มีความอิสระเป็นกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้นิติวิทยาศาสตร์เคยเสนอพ.ร.บ.มาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่เมื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนกฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งโดยไม่ต้องเสนอเข้าใหม่ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศนโยบายเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นงานนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์จึงต้องปรับตัวให้มีมาตรฐานตามนโยบายอาเซียน ในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะประสานความร่วมมือโดยตรงไปยังประชาคมอาเซียนและสมาชิกประเทศในกลุ่มเอเซียแปซิฟิคเพื่อตั้งเป็นประชาคมนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ล่าสุดได้รับความร่วมมือจากอาร์เจนติน่าเข้ามาช่วยอบรมทักษะการตรวจพิสูจน์ศพนิรนามเนื่องจากอาร์เจนติน่ามีความเชี่ยวชาญในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีมีการขุดหลุมฝังศพเป็นหลุมใหญ่

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 25-28 พ.ย.นี้จะมีการประชุมประชาคมนิติวิทยาศาสตร์อาเซียนซึ่งจะมีการหารือขอความร่วมมือด้านการตรวจหาระเบิดในระยะไกล เนื่องจากจากประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่พบปัญหาการลอบวางระเบิดอย่างต่อเนื่องและขณะนี้ไทยไม่มีเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิดระยะไกล เนื่องจากเครื่องจีที 200 ถูกสั่งยกเลิกการใช้งานทำให้พบว่ามีสถิติเหตุระเบิดเพิ่มมากขึ้นเจ้าหน้าที่ที่เข้าเพื่อที่ปฏิบัติงานจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ โดยในส่วนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องจีที 200ในการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อจำกัดพื้นที่ให้แคบลงไม่ใช่การตรวจหาวัตถุระเบิดโดยตรง ทั้งนี้เห็นว่าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงไม่ควรมีตัวแปรมากแต่เครื่องจีที200 กลับพบว่ามีตัวแปรมากไม่ตรงกับหลักทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบผู้ก่อเหตุได้เปลี่ยนวิธีการลอบวางระเบิดโดยใช้วิธีวางอย่างเร่งด่วน โดยจะอาศัยช่วงที่เจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนผ่านไปแล้วจึงจะวางระเบิด เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดที่อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส.



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม