วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ภัยธรรมชาติ ใต้ฝุ่น วีเซนเต ซัดปักกิ่ง-ฮ่องกง

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ถ้าสังเกตความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข่าวคราวปัญหาเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะพบว่า สภาพอากาศแปรปรวนค่อนข้างผิดปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศเกือบทั่วทุกมุมโลกต่างได้รับผลกระทบในเรื่องนี้กันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทยเอง เมื่อปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยน้ำครั้งใหญ่!!

ปัญหาเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทาง นสพ.เดลินิวส์ ได้ให้ความสำคัญเกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคอยเตือนภัยให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ว่า เรื่องราวของธรรมชาติอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถึงแม้ไม่มีใครจะฝืนธรรมชาติได้ แต่มนุษย์ก็สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติ อย่างน้อยก็ช่วยลดหนักให้เป็นเบา หรือใช้ชีวิตเอาตัวรอดให้ได้ ดังเช่นช่วงปลายปี 2553 ทางเดลินิวส์ ได้เคยร่วมกับภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย นสพ.เดลินิวส์, มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, เว็บพลังจิต.คอม และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ฯลฯ จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ’เจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด“ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมากไม่มีใครคาดคิดว่า พอช่วงปลายปี 2554 ประเทศไทยจะมาประสบกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!!

แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ที่เป็นข่าวใหญ่ ๆ ยังพอจดจำกันได้ ไล่ตั้งแต่ เดือน ก.พ. 54 เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 6.3 ริคเตอร์ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์, เดือน มี.ค. 54 เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 9.0 ริคเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มหลายจังหวัดชายทะเล ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 13,000 ศพ สูญหายอีก 15,000 คน และไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับแสนคน ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พังเสียหาย จนทำเอาคนทั่วโลกต่างขวัญผวาไปด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ เดือน พ.ค. 54 ยังเกิดเหตุแผ่นดินไหวทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาตลอด ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศพม่า ความรุนแรงยังสั่นสะเทือนถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี “ภูเขาไฟกริมสว็อตน์” อยู่ใต้ธารน้ำแข็งวัตนาโยคุลล์ ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุด ประเทศไอซ์แลนด์ ได้เกิดการปะทุ เถ้าละอองจากปล่องภูเขาไฟพวยพุ่งระดับความสูงถึง 11 กม. ทำให้ต้องมีการประกาศเป็นเขตห้ามบินในรัศมีโดยรอบทุกทิศทาง 220 กม. ของทวีปยุโรป ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เจอ พายุทอร์นาโด 13 ลูก พัดถล่ม 5 รัฐทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นทอร์นาโดที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในรอบ 60 ปี

ปิดท้ายที่ประเทศไทย เริ่มจากช่วงกลางปี 54 มีพายุหลายลูกที่ถาโถมเข้าเล่นงานในเมืองไทยต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ต.ค. 54 ก่อนจะเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยมีการจดบันทึกพายุได้ทั้งหมด 5 ลูกคือ1. พายุไหหม่า 2. พายุนกเตน 3. พายุไห่ถาง 4. พายุเนสาด และ 5. พายุนาลแก เรียกว่าพายุทั้ง 5 ลูก ประชาชนชาวไทยน่าจะยังคุ้นเคยชื่อกันได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดสื่อต่างประเทศ ได้รายงานข่าว พายุไต้ฝุ่น “วีเซนเต” (VICENTE) หมายถึงเมฆ ได้พัดถล่มกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงประเทศจีน จนทำให้เกิดฝนตกหนักสุดในรอบ 64 ปี ส่งผลทำให้น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของปักกิ่ง เมื่อวันที่ 21-22 ก.ค. 55 บางพื้นที่พายุฝนถล่มตกยาวนานกว่า 14 ชั่วโมง ถือเป็นเวลานานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2494 ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนกว่า 30,000 คน ที่อยู่แถบเทือกเขาชานกรุงปักกิ่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย และต้องสั่งยกเลิกเที่ยวบิน 475 เที่ยว
นอกจากกรุงปักกิ่งจะถูกเล่นงานแล้ว พายุไต้ฝุ่นวีเซนเต ได้พัดเข้าถล่มเกาะฮ่องกง เมื่อช่วงเช้าของ (วันที่ 24 ก.ค.) ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบ้านเรือนที่พักอาศัยและอาคารพาณิชย์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว 120 ราย (บาดเจ็บสาหัส 15 ราย) เส้นทางการสัญจรทั้งทางบก น้ำและอากาศ ระบบขนส่งมวลชนต้องหยุดให้บริการชั่วคราว เที่ยวบิน 44 เที่ยวที่มีจุดหมายยังเมืองสำคัญในทวีปเอเชียถูกยกเลิก และมีการเลื่อนเวลาเที่ยวบินอีกกว่า 270 เที่ยว หลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ทางการฮ่องกงออกประกาศเตือนภัยความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่น ที่ระดับ 8 หลังพายุเริ่มอ่อนกำลังลงเล็กน้อย โดยเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก มุ่งหน้าไปยังชายฝั่งตอนใต้ของประเทศจีน

หลายคนเห็นภาพน้ำท่วมเมืองหลวงของจีนและความเสียหายในฮ่องกงแล้วไม่วายคิดถึงการเตรียมพร้อมรับมือของรัฐบาลไทย ขณะนี้เดินหน้ากันไปถึงไหนแล้ว เพราะยังเห็นประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องเงินค่าชดเชยกันไม่เลิก จึงคงอดเป็นห่วงไม่ได้จริง ๆ ??

มาตรการรับมือน้ำท่วมของรัฐบาล ขณะนี้บรรดาหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบ ดำเนินการเป็นรูปธรรมเช่นไรบ้าง ??

ดังนั้นภัยธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน จึงถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างดีให้รัฐบาลรีบสำรวจความพร้อมเป็นการด่วน

พายุ “วีเซนเต”

ภายหลังจากพายุไต้ฝุ่นวีเซนเต มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 60 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของเมืองมาเก๊า ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 22.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งตอนเหนือเกาะไหหลำ (24 ก.ค. 55) และจะอ่อนกำลังลง ก่อนเคลื่อนตัวไปประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 25 ก.ค. นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้ประกาศเตือนภัย (ฉบับที่ 8) ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดังนี้คือ ในช่วงวันที่ 24-26 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม, วันที่ 24-27 ก.ค. ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และช่วงวันที่ 25-27 ก.ค. ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ระนองและพังงา ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ลุ่ม ใกล้ทางน้ำไหลหลาก บริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับในช่วงวันที่ 24-27 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม