วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลุ่มน้ำโขงศูนย์รวมทางเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบัน กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) นับเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย โดยเฉพาะความเป็นภาคส่วนสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จะทำให้กลุ่มประเทศ GMS ที่ประกอบด้วยประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม จีน และไทย กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกมากยิ่งขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ทั้งภูมิภาคมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงและมั่นคง โดยส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนน้อยที่สุด ตัวอย่างของวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมล่าสุดของโลกที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก คือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร้รูปแบบเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และหิมะที่ตกผิดฤดูกาล เฉพาะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภัยแล้งในกลุ่มประเทศ GMS เป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ เพราะแม้จะเกิดถี่ขึ้นคล้าย ๆ กัน แต่รูปแบบและช่วงเวลากลับแตกต่างกันอย่างมาก และยังไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลระหว่างกันและกันอย่างเพียงพอ

สำหรับประเทศไทยวันนี้ เรามีรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานชุมชนด้วย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง การมีเหตุมีผล และความพอประมาณ (3 ห่วง) ภายใต้องค์ความรู้ และคุณธรรม (2 เงื่อนไข) เป็นการพัฒนาแนวคิดเชิงพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhism Economics) อันว่าด้วยเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ไม่เบียดเบียนกันและกัน และร่วมมือกันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ได้ประสบผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วนของไทย จึงได้รับการยอมรับจากผู้แทนกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ให้เป็นหลักสูตรหลักในการพัฒนาบุคลากรภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค โครงการ “พัฒนาทุนมนุษย์ในภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS ปี 2555” โดยมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศร่วมกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้บรรจุหลักสูตรว่าด้วยกรณีศึกษาสถานการณ์น้ำในประเทศไทย จะส่งผลกระทบอย่างไรกับกลุ่มประเทศ GMS เพิ่มขึ้นในภาคของสิ่งแวดล้อม โดยนำการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียงมาถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาแก่ผู้แทนระดับสูงจาก ภาครัฐและเอกชนจากประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม จีน และไทย เพื่อเปลี่ยนวิกฤติน้ำให้เป็นโอกาสด้วยการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำและพลังงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นต้นแบบและหลักสูตรในโครงการดังกล่าว ที่จัดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า “การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมด้วยแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพลังงานตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นกรณีศึกษาและถอดแบบเรียนแก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้นเพราะเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิสังคมวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค สำหรับกิจกรรมซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปนั้น นอกจากการที่ผู้แทนของกลุ่มประเทศ GMS จะได้ลงพื้นที่ดูโครงการตามแนวพระราชดำริหลายรูปแบบในพื้นที่ที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีโอกาสได้รับฟังการบรรยายเรื่อง กรณีศึกษาสถานการณ์น้ำในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อ GMS อย่างไร? และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ โดย ดร.รอยล จิตรดอน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการถอดบทเรียนไปใช้ในแต่ละประเทศ” ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีศึกษาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ที่ได้เฝ้าดูและติดตามอย่างใกล้ชิดว่า “ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มสังเกตเห็นน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่เดียวกันเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฝนตกหนักมาก มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2545 และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีในอีก 10 ปีข้างหน้า” ดร.รอยล ยังได้กล่าววิเคราะห์เปรียบเทียบประสบการณ์ของไทยว่าแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ใน GMS อาทิ ทางตอนใต้ของเวียดนามจะแตกต่างออกไปไม่เหมือนกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมจากแม่น้ำโขงเหมือนทางตอนใต้ของเวียดนาม ฯลฯ ดร.รอยล สรุปว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนประยุกต์ตามแนวพระราชดำรินั้น จะใช้การบริหารจัดการน้ำและป่า เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ฯลฯ ที่อิงกับธรรมชาติของพื้นที่เป็นหลัก เพื่อใช้งบประมาณพอเหมาะ และไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ

ประชาชนในพื้นที่สามารถรับไม้ต่อไปบริหารจัดการกันเองได้ในชุมชน “การบริหารจัดการน้ำให้ได้ดีตามแนวพระราชดำรินั้น ต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคลังความรู้ การใช้ระบบสารสนเทศมาช่วยในการจัดการน้ำได้ดีขึ้น และที่สำคัญต้องรู้จักบริหารความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายอู มิน คะยอ (U Myint Kyaw) รองประธานคณะกรรมการพลังงาน และพลังงานทดแทน สมาคมวิศวกรพม่า ผู้แทนระดับสูงจากประเทศพม่า หลังจากที่ได้ศึกษาดูงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาคของไทย ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “วิถีชีวิตแบบพอเพียงเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดของมนุษย์ เพราะความสุขจากความพอเพียงมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาที่แท้จริงแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้มีความแตกต่างน้อยลง เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ประชาชนผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัยอย่างพอเพียงได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพา แต่สามารถเอื้อเฟื้อแก่คนอื่น ๆ ได้ด้วย” “วิถีชีวิตเรียบง่ายของเกษตรกรไทยในโครงการตามแนวพระราชดำรินั้นมั่นคง ปราศจากความกลัวหรือความกดดันที่จะต้องฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น และจะเป็นความยั่งยืนด้านทรัพยากรและการดำรงชีวิตของคนรุ่นหลัง” ศ.ดร.จีระ ได้กล่าวสรุปว่าโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพลังงานตามแนวพระราชดำรินั้น ได้ผ่านกระบวนการ “เรียนรู้โดยลงมือทำ (Learning by Doing)” เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน จึงเป็นหลักสูตรที่ผู้แทนของกลุ่มประเทศ GMS ยกย่องและยอมรับ “การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการบริหารจัดการพลังงานมั่นคง สิ่งแวดล้อมยั่งยืนในกลุ่มประเทศ GMS โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพและความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างคุณภาพบุคลากรภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศ GMS จะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมั่นคง และยั่งยืนในภูมิภาค”.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม