วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จตุพรเบิกความในศาล ปมโจทก์หนีเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล กล่าวหาว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

วันนี้นายจตุพรขึ้นเบิกความด้วยตัวเองสรุปว่า ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2551-พฤษภาคม 2554 ในคดีนี้พยานได้ปราศรัยถึงโจทก์รวม 2 วัน คือกรณีที่โจทก์หนีเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารเท็จเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. และการปราศรัยที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการป้องปรามโจทก์ไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน

นายจตุพรเบิกความว่า สำหรับเรื่องการหนีเข้ารับการเกณฑ์ทหารของโจทก์ ชายไทยเมื่ออายุครบ 17 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน และเมื่ออายุครบ 20 ปี ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี และองคมนตรี ที่หลังจากจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมายังต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผบ.กรม (ขณะนั้น) ไปพบและสอบถามทราบว่า จบเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ จึงนำตัวมาช่วยราชการที่กรม ดังนั้น ชายไทยทุกคนจะต้องรับใช้ชาติโดยการเกณฑ์ทหาร นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นแบบอย่าง การที่ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นการแสดงออกถึงความไม่รักชาติ โดยเรื่องนี้พยานได้ตรวจสอบตั้งแต่เป็นโฆษกพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา จนกระทั่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย

นายจตุพรเบิกความต่อว่า ในสมัยพรรคพลังประชาชนได้มีการเปิดผลการสอบสวนของจเรทหารบก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 กรณีที่มีการร้องเรียนว่า โจทก์เลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จ มาเผยแพร่ เพราะพยานต้องการตรวจสอบ และตั้งคำถามต่อโจทก์ ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ได้มีเลี่ยงเกณฑ์ทหาร และใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ เพราะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีความสง่างาม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนไทยได้ สอดคล้องกับจริยธรรมและกฎเหล็ก 9 ข้อ ที่โจทก์เคยพูดไว้ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพยานสอบถามโจทก์ในเรื่องดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ชี้แจงทั้งการอภิปรายในสภาและนอกสภา

นายจตุพรเบิกความต่อว่า พยานในฐานะชายไทยผ่านการเข้ารับตรวจเลือกการเกณฑ์ทหารแล้ว จึงมีประสบการณ์กับตัวเอง โดยเมื่อโจทก์เกิดวันที่ 3 สิงหาคม 2507 เมื่อมีอายุครบ 17 ปี ย่างเข้า 18 ปี โจทก์ต้องเข้ารับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินในปี 2524-2525 และโจทก์ต้องได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 20 ปี ในปี 2527 และต้องเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในปี 2528 แต่ในปี 2524 โจทก์อ้างว่าไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จึงไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน รอจนกระทั่งเรียนจบจากในเดือนมิถุนายน 2529 โจทก์จึงไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินที่จะได้ใบ สด.9 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ในขณะที่โจทก์มีอายุ 22 ปี โดยสัสดีเขตพระโขนงเขียนเป็นลายมือให้โจทก์มารับใบ สด.9 ในเดือนมกราคม 2530 โจทก์จึงต้องเข้ารับเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เมษายน 2530 แต่วันที่ 7 เมษายน 2530 โจทก์ไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ โจทก์จึงเป็นคนขาดการตรวจเลือก การที่โจทก์ไม่ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน เมื่อมีอายุครบกำหนดมีโทษจำคุกทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ไปขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จึงเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว เพราะเป็นเวลาที่โจทก์เรียนจบจึงมาขึ้นทะเบียน โจทก์จึงไม่มีเหตุผลใด ขอผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้อีก ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497

นายจตุพรเบิกความต่อว่า จากรายงานการสอบสวนของจเรทหารบก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 ปรากฏชัดเจนว่า โจทก์ไม่เคยได้รับการผ่อนผันหรือเคยเกณฑ์ทหาร แต่โจทก์ได้พยายามขึ้นทะเบียนทหารกองเกินในภายหลัง มีการประสานกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนนายร้อย จปร. โดยมีการทำหนังสือจากกรมสารบรรณทหารบก (สบ.ทบ.) ทำเรื่องถึงโรงเรียนนายร้อย จปร.ให้รับโจทก์เป็นอาจารย์ และโรงเรียนนายร้อย จปร.ทำหนังสือตอบกลับ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 ให้โจทก์เข้ารับราชการ ต่อมาโจทก์ได้ไปเรียนใบสมัครเป็นอาจารย์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2530 แต่โจทก์ขาดหลักฐานสำคัญ โดยคนที่จะสมัครรับราชการทหาร หากมีอายุ 18-20 ปี ต้องมีใบ สด.9 หากอายุ 21 ปี ต้องใช้ใบ สด.9 ใบผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร (สด.41) หรือใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.43) ซึ่งขณะที่โจทก์สมัครเป็นอาจารย์นั้น มีอายุ 23 ปี จึงต้องใช้เอกสารดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร จึงไม่มีเอกสารประกอบการสมัคร ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2530 โจทก์มาเขียนใบสมัครใหม่อีกครั้ง แต่โจทก์ไม่สามารถใช้เอกสารหลักฐานได้แม้แต่เพียงชิ้นเดียว เพราะถ้าใช้ สด.9 ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 โรงเรียนนายร้อย จปร.จะตรวจพบว่า โจทก์เป็นคนขาดการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร ในวันที่ 7 เมษายน 2530 เมื่อโจทก์ไม่เข้ารับการตรวจเลือกเอกสาร สด.43 จะถูกทำลาย อีกทั้งโจทก์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันเกณฑ์ทหาร เพราะไม่ได้ไปศึกษาต่างประเทศ การอ้างเรื่องการศึกษาต่างประเทศของโจทก์ที่อ้างว่า ได้รับการผ่อนผันโดยใช้ใบรับรองของผู้ช่วยสัสดีกรุงเทพ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ซึ่งภายหลังกระทรวงกลาโหมมาตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 พบว่า เป็นเอกสารที่ผิดกฎหมาย เพราะผู้ที่จะอนุญาตได้จะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ เอกสารยังมีพิรุธหลายประการ พิมพ์ผิด แม้กระทั่งชื่อมารดาของโจทก์ วันขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน และเหตุผลที่อนุญาต ระบุตาม ม.29 (3) พ.ร.บ.รับราชการทหารฯ ซึ่งเป็นกรณีที่เรียนในต่างประเทศ หากเป็นกรณีศึกษาต่างประเทศ เช่น กรณีของโจทก์จะต้องใช้ ม.27 ซึ่งปัจจุบันคนลงนามอายุ 78 ปี เกษียณราชการแล้ว และเอกสารดังกล่าวยังขัดแย้งกับ สด.20 ที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดง โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เป็นเอกสารเท็จหรือไม่

นายจตุพรเบิกความต่อว่า นอกจากนี้ พยานตรวจสอบพบพิรุธอีกว่า เมื่อโรงเรียนนายร้อย จปร.รับบรรจุโจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2529 แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 กลับมีชื่อโจทก์ขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี 2530-2532 แต่ข้อเท็จจริงพบว่า โจทก์ได้ไปเขียนใบสมัครเป็นอาจารย์ในวันที่ 12 มกราคม 2532 ซึ่งถ้าไปเรียนต่อต่างประเทศจริง โจทก์จะมาเขียนใบสมัครได้อย่างไร ฉะนั้น เอกสารที่รับรองโดยผู้ช่วยสัสดีกรุงเทพและ สด.20 นั้น จึงมีข้อความที่เป็นความเท็จและผิดกฎหมาย และหลังจากโจทก์เขียนใบสมัครครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 หลังการตรวจเลือก 2 วัน ปรากฏว่า โจทก์ได้รับการเป็นข้าราชการพลเรือนทหารบกในวันที่ 7 สิงหาคม 2530 โดยที่โจทก์ยังไม่มีเอกสาร เพราะโจทก์ยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกอยู่ดี และเอกสาร สด.9 ที่ใช้สำแดงจึงผิดกฎหมาย กระทั้ง วันที่ 7 เมษายน 2531 โจทก์ก็ยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกเป็นปีที่ 2 ไปจนกระทั่งถึงปี 2536 ซึ่งมีอายุครบ 29 ปี

นายจตุพรเบิกความต่อว่า โจทก์ได้ไปขอใบ สด.9 ฉบับใหม่อ้างว่า ฉบับเดิมสูญหาย โดยมีการแก้ข้อความให้ ทั้งที่ความจริง เมื่อสัสดีพระโขนงพบโจทก์จะต้องจับกุมดำเนินคดีข้อหาหลบเลี่ยงไม่เกณฑ์ทหาร และพาตัวไปเกณฑ์ทหารจนครบกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งจากการผลการสอบสวนของจเรทหารบก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 เห็นว่า มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนแต่บางคนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ลงทำได้เพียงลงทัณฑ์พันเอกหญิงคนหนึ่ง และให้ดำเนินคดีอาญากับสัสดี โดยเป็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับข้าราชการผู้ให้ความช่วยเหลือโจทก์ แต่ไม่เน้นการดำเนินคดีโจทก์ เพราะอะไรพยานไม่ทราบ แต่ขณะนั้น มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายจตุพรเบิกความต่อว่า เมื่อมีการบรรจุโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนทหารบก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 เป็นผลมาจากการใช้ สด.9 อันเป็นเท็จ การบรรจุโจทก์เป็นว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531 ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 และได้รับพระราชทานยศร้อยตรี เมื่อเดือนตุลาคม 2531 จึงได้มาจากเอกสารที่เป็นเท็จ และในวันที่ 5 กันยายน 2532 โจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ อ้างว่าไปศึกษาต่างประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับ สด.20 ที่อ้างว่า ได้รับการผ่อนผันไปศึกษาต่างประเทศในปี 2530-32 ซึ่งถ้าอยู่ต่างประเทศจะมาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร และในระหว่างรับราชการทหาร 331 วัน โจทก์ปฏิบัติงานเพียง 110 วัน ลาเดินทางไปต่างประเทศถึง 221 วัน


นายจตุพรเบิกความต่อว่า คดีนี้พยานเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ และให้โจทก์ฟ้องร้อง เพื่อให้มีการพิสูจน์เอกสารในคดีนี้ และพฤติการณ์ของโจทก์ว่า มีเจตนาหลบเลี่ยงการเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารหรือไม่ และใช้เอกสารเป็นเท็จเข้าสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์ความจริงคดีนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่จะไม่มีใครหลบเลี่ยงการเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร

นายจตุพรเบิกความว่า กรณีการปราศรัย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ที่หน้า กกต. เพื่อป้องปรามไม่ให้โจทก์ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ดังเช่นกรณี สงกรานต์เลือด เมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยพยานได้รับเอกสารจากนายทหารผู้หวังดีกับกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเอกสารเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 รวม 37 หน้า ซึ่งขณะนั้น มีการนัดหมายกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันในวันที่ 14 มีนาคม 2553 จึงได้พูดปราศรัยเพื่อป้องปราม เนื่องจากรู้สึกกังวลใจและมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์คือ กรณีที่มีผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเบียดเข้าขบวนรถยนต์ของโจทก์ แต่ปรากฏว่า ไม่มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่มีผู้ขับรถยนต์แท็กซี่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงเบียดขบวนรถยนต์ของโจทก์อีกครั้ง แต่ก็ไม่มีการสอบสวนและดำเนินคดีเช่นกัน พยานเห็นว่า อาจเป็นการเริ่มต้นการสร้างสถานการณ์ เพราะเมื่อเดือนเมษายน 2552 ในเหตุการณ์เผารถเมล์ 52 คน ปรากฏว่า ประจักษ์พยานทั้งคนขับรถเมล์ และพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 104 คน ไม่สามารถชี้ได้ใครเป็นคนปล้นและเผารถเมล์ แม้แต่เพียงรายเดียว รวมทั้งกรณีที่โจทก์อ้างว่า ถูกทุบรถยนต์ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 เหตุการณ์นำรถแก๊สจากสามเหลี่ยมดินแดงไปจอดเผาที่คิงส์เพาเวอร์ เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่มัสยิด ถนนเพชรบุรี ซอย 5 และ 7 เหตุฆาตกรรม 2 ศพ ที่บริเวณนางเลิ้ง เหตุฆาตกรรมการ์ด นปช.ทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ศพ เหตุยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ใส่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เหตุวางระเบิดซีโฟร์ห่างศาลฎีกาสนามหลวง 200 เมตร เหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพยานสงสัยในเหตุการณ์เหล่านี้ จึงได้สอบสวนจนทราบว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ โดยพยานมีข้อมูลหลักฐานบางเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้ อาทิ เหตุเผารถแก๊ส เผารถเมล์ ทุบรถยนต์โจทก์ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งผลการสอบสวนเหล่านี้ พยานได้นำไปอภิปรายในสภาด้วย



www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม