วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เอ็กซ์โป 2012 ยอซู โคเรีย” (Expo 2012 Yeosu Korea)

เริ่มต้นขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สำหรับงาน “เอ็กซ์โป 2012 ยอซู โคเรีย” โดยที่ผ่านมามีผู้ชมจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าชมงานไม่ขาดสาย ซึ่งพาวิลเลียนของประเทศไทยได้โชว์ศักยภาพสุดอลังการสร้างความสนใจให้กับผู้ชมจากนานาประเทศจนได้รับเลือกให้เป็นพาวิลเลียนหลักต้อนรับสื่อมวลชน และล่าสุดได้ติดอันดับ 1 ใน 3 พาวิลเลียนยอดนิยมจาก106 ประเทศทั่วโลกด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

งานยอซู อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์โปสิชั่น 2012 (Yeosu International Exposition 2012) หรือชื่อย่ออย่างเป็นทางการว่า “เอ็กซ์โป 2012 ยอซู โคเรีย” (Expo 2012 Yeosu Korea) จัดขึ้น ณ เมืองยอซู สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 12 พ.ค.-12 ส.ค.2555 โดยสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau International de Exposition) หรือ BIE ภายใต้คอนเซปต์ “The Living Ocean and Coast : Diversity of Resources and Sustainable Activities” เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างนานาประเทศที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาแนวทางพัฒนาทรัพยากรทางทะเลของโลกให้คงอยู่ยั่งยืน

งานเอ็กซ์โป 2012ฯ ได้จัดขึ้น ณ บริเวณริมอ่าวเมืองยอซู บนพื้นที่ 156 ไร่ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 106 ประเทศ และ 10 องค์กรนานาชาติ โดยสัญลักษณ์ของงานประกอบด้วย สัญลักษณ์ของสีแดงที่สื่อถึงระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต สีฟ้าสื่อถึงมหาสมุทร และสีเขียวสื่อถึงสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 สีผสานกันแสดงถึงการประสานอย่างกลมเกลียวของผืนโลก มหาสมุทร และมวลมนุษยชาติ มีมาสคอต ชื่อ ยอนี่ (Yeony) และซูนี่ (Suny) เป็นแรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า แพลงก์ตอน ซึ่งสีฟ้าของยอนี่สื่อถึงน้ำทะเลที่เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสีแดงของซูนี่สื่อถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

อาคารที่น่าสนใจภายในงานได้แก่ ธีม พาวิลเลียน (Theme Pavilion) อาคารแรกของเกาหลีที่ยื่นออกและตั้งอยู่บนผิวน้ำทะเล ภายในแสดงภาพที่นำผู้ชมไปสู่มหาสมุทรในอนาคต ซับ-ธีม พาวิลเลียน (Sub-Theme Pavilion) อาคารที่ถ่ายทอดเรื่องราวในเชิงลึกเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวิลเลียน (International Pavilion) ถูกออกแบบให้เป็นคลื่นน้ำขนาดยักษ์ รวบรวมนิทรรศการของทุกชาติไว้อย่างลงตัว แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Indian Ocean Atlantic Ocean และ Pacific Ocean โคเรีย พาวิลเลียน (Korea Pavilion) ได้รับแรงบันดาลใจจากลายแทกึก บนธงประจำชาติสาธารณรัฐเกาหลี สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และเอกลักษณ์ที่ผสมกลมกลืนกับท้องทะเล The Big-O พื้นที่กิจกรรมริมทะเลขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อให้ผู้ชมได้ชมการแสดงแสงสีเสียงอย่างตื่นตาตื่นใจ

นอกจากนี้ภายในงานยังมีอุโมงค์แสดงนิทรรศการใจกลางเอ็กซ์โป (Expo Digital Gallery) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งแรกของโลก ที่พาผู้เยี่ยมชมทะเลเข้าไปชื่นชมธรรมชาติใต้ท้องทะเลในมิติแห่งอนาคต และอาคารที่สูงที่สุดในงาน (Sky Tower) สามารถชมวิวได้ 360 องศา ภายในโครงสร้างอาคารประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่สามารถแปรเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

สำหรับ อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ของประเทศไทยเราได้นำเอาความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของท้องทะเลไทยไปให้ชาวโลกได้ชม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คัดเลือกให้บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) สร้างสรรค์อาคารศาลาไทย ออกสู่สายตาประชาชนทั่วโลกภายใต้แนว คิด ’สีสันบนความหลากหลาย ในศิลป์แห่งวรรณกรรมและจิตรกรรมท่ามกลางธรรม ชาติวิถี“ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของงานปีนี้ที่ว่า “The Living Ocean and Coast”

ดร.บำรุงศักดิ์ ฉัตรอนันทเวช และสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการอาคารศาลาไทย กล่าวถึงที่มาของแนวคิดดังกล่าวว่า คนเกาหลีและคนต่างชาติรู้จักประเทศไทย คือกรุงเทพฯ และภูเก็ตเท่านั้น แต่เรามีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น เช่น เกาะสิมิลัน เกาะเต่า และอีกมากมาย ซึ่งเราสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ด้วยการคัดเลือกช่างภาพถ่ายภาพใต้น้ำฝีมือดีที่สุดของประเทศไทย 5 คน ดำน้ำลงไปถ่ายภาพแบบ 360 องศา ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทั่วโลกนิยมใช้กันเพื่อให้ได้ภาพออกมาสวยงาม ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลซึ่งเรามีความร่วมมือในการทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จึงทำให้ได้ภาพท้องทะเลและชายฝั่งที่สวยงดงามไม่เหมือนใครออกสู่สายตาชาวโลกอย่างน่าชื่นชม

การจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น เพราะไทยแลนด์พาวิลเลียนได้รับการตอบรับอย่างสูงจากจำนวนประชาชนที่ไปต่อคิวเข้าชมไทยแลนด์พาวิลเลียนทุก ๆ วัน รวมทั้งคำชมจากผู้จัดงานว่าเรามีการเตรียมพร้อมในการโชว์ศักยภาพเป็นอย่างดี และสามารถเปิดให้ประชาชนทั่วโลกเข้าชมอย่างสมบูรณ์เป็นประเทศแรกจนถูกบรรจุให้เป็นไฮไลต์นำเสนอใน Media Day โดยมีทั้งสื่อมวลชนทั้งของประเทศเกาหลีและจากหลากหลายประเทศที่เข้าร่วม ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าไทยแลนด์พาวิลเลียนจะสามารถติดอันดับ 1 ใน 5 พาวิลเลียนยอดนิยมมีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 9 แสนถึง 1 ล้านคน และงานนี้ถือเป็นเครื่องมือของประเทศไทยในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งทำให้ชาวต่างชาติรู้จักและเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ที่สำคัญที่สุดคือสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ด้าน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้สร้างสรรค์ไทยแลนด์พาวิลเลียน ประธานบริหารเจ้าหน้าที่ร่วมบริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัดมหาชน อธิบายถึงความโดดเด่นของอาคารศาลาไทยว่า ได้ถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่สะท้อนถึงความเป็นไทยทั้งลวดลายไทยประจำยามเป็นแผ่นทองฉลุ เพื่อเป็นองค์ประกอบรอบศาลาไทยและจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจิตรกรรมตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2538 ที่แสดงให้เห็นถึงฉากความงดงามของวิถีไทยริมชายฝั่งและท้องทะเล ต่อมาในส่วนของนิทรรศการส่วนแรก คือนิทรรศการส่วนต้อนรับ ซึ่งอยู่ด้านนอกอาคาร เป็นเวทีเปิดโล่งรับกับจอแอลซีดีขนาดใหญ่ที่บอกเล่าเรื่องราวด้วยระบบมัลติมีเดีย

การดำเนินเรื่องได้นำตัวเอกของพระอภัยมณี คือ ’สุดสาคร“ และ ’ม้านิลมังกร“ เป็นสื่อในการเล่าเรื่อง โดยมียักษ์ไมยราพณ์ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ Humanoid สูง 3.5 เมตร เป็นผู้ครองเมืองบาดาล และมีการแสดงโชว์ทั้งหมด 4 ชุด คือตำนานรักแห่งสมุทร รำเคียวเกี่ยวข้าว การแสดงโขน และมวยไทย ให้ผู้มาชมงานได้ชมกันอย่างจุใจ ส่วนนิทรรศการด้านในอาคารศาลาไทยส่วนที่ 1 มีหุ่นยนต์นางเงือกตัวแรกของโลก ที่สร้างระบบเคลื่อนไหวแบบ Hydronewmatic เป็นการเคลื่อนไหวระบบลม ทำให้ดูเป็นธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยจะมาบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีผ่านจอภาพพิเศษรูปทรงเรือ ที่สื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงศักยภาพความงดงามสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของทะเลและชายฝั่งไทยผ่านแนวคิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเลซึ่งน้อมนำจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ต่อมาเป็นห้องนิทรรศการที่มีการพัฒนาเทคนิค Senses Machine นำเสนอความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งทั้งอันดามันและอ่าวไทยบนจอภาพ 360 องศา ที่ให้ผู้ชมเหมือนทะยานออกไปยังที่ต่าง ๆ เสมือนจริง และนิทรรศการห้องสุดท้ายแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน World Exposition 2020 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และร้านขายของที่ระลึก

ทั้งหมดนี้เป็นสีสันของงานเอ็กซ์โป 2012 Yeosu Korea ที่ไทยแลนด์พาวิลเลียนได้โชว์ความอลังการเอาไว้ ต่อไปคงต้องรอลุ้นกันว่าในปี ค.ศ. 2020 ประเทศไทยจะมีโอกาสได้โชว์ศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Exposition 2020 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือไม่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนไทยทุกคนในการที่จะช่วยกันเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทยให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกสืบไป.

.........................................

แนวคิดในการออกแบบตราสัญลักษณ์นำโชค

สัญลักษณ์นำโชค (Mascot) ของศาลาไทยได้นำตัวละครจากวรรณคดีไทยเรื่องเยี่ยมบนฉากหลังของท้องทะเลที่โด่งดังที่สุด คือพระอภัยมณี ของกวีเอกสุนทรภู่ มาเพิ่มความสนุกสนานถ่ายทอดเรื่องราวแห่งท้องทะเลพร้อมทั้งสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างมีเอกลักษณ์

“สุดสาคร” คำว่า สาคร แปลว่า ทะเล ดังนั้นชื่อ สุดสาคร จึงหมายถึงมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล ลักษณะเด่น คือสุดสาครเป็นลูกของพระอภัยมณีและนางเงือก ตัวละครที่มีชีวิตในจินตนาการสุดล้ำเลิศของสุนทรภู่ สุดสาครเป็นเด็กที่มีจิตใจดีเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เฉลียวฉลาด เป็นมิตรกับผู้อื่น อัธยาศัยดีด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า ถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและความโอบอ้อมอารีพร้อมมอบให้กับเพื่อนต่างชาติอยู่เป็นนิจ ซึ่งสิ่งวิเศษคู่กาย คือไม้เท้าวิเศษที่สุดสาครใช้ก็เพื่อร่ายมนตร์วิเศษนำพาทุกคนท่องไปในโลกแห่งท้องทะเล
และชายฝั่งอันงดงามของไทย เนรมิตความอัศจรรย์ ตื่นตาตื่นใจและความสุขให้กับทุกคน

“ม้านิลมังกร” สหายคู่ใจของสุดสาคร เป็นสิ่งมีชีวิตตามจินตนาการสายพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล ม้านิลมังกรถูกออกแบบให้มีบุคลิกกระตือรือร้น ร่าเริงแจ่มใส จิตใจดีและเป็นมิตรกับทุกคน ลักษณะเด่น มีสีสันหลากหลายอยู่ในตัว สีหลักคือสีเทอร์ควอยซ์น้ำทะเลซึ่งเป็นสีที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำทะเลไทย ส่วนเส้นลายประยุกต์มาจากลายไทยโดยนำมาตัดทอนรายละเอียดให้ดูง่ายขึ้น เช่น โคนขา คิ้ว ดัดแปลงมาจากเส้นโค้งและคิ้วของยักษ์ในวรรณกรรมไทย ลวดลายใบหูดัดแปลงมาจากลายนก ส่วนหางดัดแปลงมาจากลายกระจังตาอ้อย โดยดัดแปลงให้เป็นสากลมากขึ้น.

ทีมวาไรตี้



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม