วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรมทรัพยากรธรณี (ทธ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จัดการประชุมเรื่อง “ อุทยานธรณี: มิติใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ” เพื่อรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการพิจารณาและจัดตั้งแหล่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 4 จังหวัดเป็นอุทยานธรณี ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการอนุรักษ์ธรณีในประเทศไทย
โดยนายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การจัดตั้งอุทยานธรณีเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมทรัพยากรธรณีการดำเนินการจึงล้าช้าไปบ้าง ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาทางกรมทรัพยากรธณีได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นศึกษา วิจัย สำรวจและประเมินสภาพทรัพยากรธรณีในท้องถิ่นที่ยื่นเสนอขอจัดตั้งอุทยานธรณี โดยจะพิจาณาจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)เป็นผู้กำหนด อาทิ แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา แหล่งโบราณคดี แหล่งนิเวศวิทยา และแหล่งวัฒนธรรมประเพณี แล้วรัฐบาลจะยื่นเสนอต่อยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ทั้งนี้ประเทศไทยเตรียมจัดตั้งอุทยานธรณีใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุทยานธรณีผาชัน –สามพันโบก จ.อุบลราชธานี อุทยานธรณีละงู – ทุ่งหว่า-ตะรุเตา จ.สตูล พื้นที่จ. เลย และขอนแก่น
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ผอ.สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า อุทยานธรณีฯ จะกลายเป็นแหล่งความรู้ที่มีความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์เป็นมิติใหม่ของการอนุรักษ์ธรณีวิทยาโดยถ่ายทอดความรู้ผ่านการท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลให้แหล่งอนุรักษ์ธรณีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมโลก ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นจึงกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างประโยชน์ในทุกด้าน
“ ในส่วนของ จ.อุบลราชธานีได้ยื่นเสนอขอจัดตั้งอุทยานผาชัน-สามพันโบก โดยอุทยานฯ ดังกล่าวจะกินพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีเมืองใหม่ อ.โพธิ์ไทร และ อ.โขงเจียม โดยในพื้นที่ประกอบด้วยแหล่งอนุรักษ์สำคัญจำนวนมาก อาทิ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ อุทยานน้ำตกผาหลวง สามหมื่นรู ถ้ำปาฏิหาริย์ และถ้ำมืด อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โดยพื้นที่ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ภายใต้คณะกรรมการอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขณะนี้กำลังรอการพิจาณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อประกาศเป็นอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จ.อุบลราชธานี ส่วนพื้นที่อื่นอยู่ในระหว่างการประเมินแหล่งอนุรักษ์ในพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณีต่อไป ” ผอ.สำนักธรณีวิทยา กล่าว
ด้านนายสุรพล สายพันธ์ ผวจ. อุบลราชธานี กล่าวว่า ทางจังหวัดเห็นว่าการจัดตั้งอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบกจะสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่และสืบสานไปยังคนรุ่นใหม่รวมทั้งสังคมโลกได้รู้จัก ส่วนกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มและอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนั้น คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะอุทยานธรณีเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น พื้นที่ใดอยู่ในความรับผิดชอบของใครก็ดูแลกันไป ส่วนพื้นที่ใดไม่มีผู้ดูแลเราก็จะใช้กฎเกณฑ์ของกรมทรัพยากรธรณีเข้าไปควบคุมดุแล ซึ่งทางจ. อุบลฯ มีความพร้อมอย่างมากในการจัดตั้งอุทยานธรณีนี้ รอเพียงการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ทางจังหวัดจะดำเนินการต่อทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น