วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หนังสือสารานุกรมสยามประเทศไทย 2485–2554 บันทึกเรื่องราวของสนามบินอู่ตะเภา เอาไว้สองครั้ง

หนังสือสารานุกรมสยามประเทศไทย 2485–2554 (สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊คส์) บันทึกเรื่องราวของสนามบินอู่ตะเภา เอาไว้สองครั้ง

ครั้งแรก 11 สิงหาคม 2509 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เปิดสนามบินอู่ตะเภาอย่างเป็นทางการ สนามบินแห่งนี้อยู่ในเขตจังหวัดระยอง ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศตะวันออก 140 กม.

ประธานร่วมในพิธี มีนายเกรแฮม มาร์ติน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และมี พล.ร.อ.จรูญ เฉลิมเตียรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นเจ้าภาพ และมีประชาชนชาวจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ไปร่วมงานนี้อย่างคับคั่ง

ข่าวที่ประกาศเป็นทางการ สนามบินอู่ตะเภา เป็นการก้าวสำคัญในการพัฒนาการป้องกันประเทศ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯให้เงินสนับสนุนจำนวน 10 ล้านบาท

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯย้ำในพิธีฯว่า สัมพันธภาพระหว่างไทยกับสหรัฐฯเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการเตือนประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ว่า

“ภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือหากจำเป็น อาจเป็นภายในไม่กี่วันข้างหน้า สนามบินแห่งนี้ พร้อมปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ”

(หลังจากนั้น สนามบินอู่ตะเภา ก็เป็นฐานทัพสหรัฐฯ ภารกิจใหญ่ คือการส่งเครื่องบิน บี 12 บินไป ปูพรมระเบิด ถล่มเป้าหมายในเวียดนาม กัมพูชา และลาว)

บันทึกเรื่องอู่ตะเภา ครั้งที่สอง...17 พฤษภาคม 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำนักศึกษาและประชาชนกว่าหมื่นคน เดินขบวนไปประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านกองทัพสหรัฐฯใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการช่วยเรือสินค้ามายาเกวซ ที่ถูกเขมรแดงจับ

หน่วยนาวิกโยธินอเมริกัน ปักหลักที่อู่ตะเภา ก่อนออกปฏิบัติการกู้ภัยที่เกาะตัง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกัมปงโสม หรือสีหนุวิลล์) ในกัมพูชา เพื่อปล่อยเรือมายาเกวซ พร้อมลูกเรือ 40 คน และลูกเรือไทยอีก 5 คน

สหรัฐฯยืนยันว่า การกระทำของเขมรแดงไม่ถูกต้อง เพราะเรือมายาเกวซถูกจับในน่านน้ำสากล ห่างฝั่งกัมพูชากว่า 60 ไมล์ทะเล

ปฏิบัติการครั้งนี้ นาวิกโยธินสหรัฐฯจมเรือปืนกัมพูชาได้ 3 ลำ นาวิกโยธินเสียชีวิตหลายนาย นอกจากไม่ระบุจำนวนทหารสหรัฐฯที่เสียชีวิต แถลงข่าวสหรัฐฯไม่ระบุความสูญเสียของฝ่ายกัมพูชาด้วย

ความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาประชาชน มีผลให้รัฐบาลไทย ต้องขอให้สหรัฐฯทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลว่า ปฏิบัติการ สหรัฐฯเกิดขึ้นโดยไม่แจ้งให้ฝ่ายไทยได้รับรู้

พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รมว.ต่างประเทศ เรียกตัว นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เดินทางกลับ เป็นการประท้วง ระหว่างรอวอชิงตันปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง

ขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายก รัฐมนตรี กล่าวว่าจะทบทวนข้อตกลงต่างๆระหว่างสองประเทศ

อีกสองวันต่อมา สหรัฐฯส่งสารแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ถึงขั้นนี้ ผู้ประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯกว่า 3 พันคน เริ่มแสดงท่าทีว่า ควรจะยุติการชุมนุม แต่นายธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนักศึกษา เห็นว่า ควรชุมนุมต่อไป จนกว่า
ทหารอเมริกัน จะออกไปจากประเทศไทยหมดแล้ว

เดือนมีนาคม รัฐบาลไทยขีดเส้นตายให้สหรัฐฯถอนทหารออกให้หมด ภายในเวลา 18 เดือน

ในที่สุด เมื่อเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน (2518) เครื่องบินขับไล่ เอฟ–4 ลำสุดท้ายของอเมริกัน ก็ทะยานออกจากสนามบินกองทัพอากาศอุดรธานี ปิดฉากการประจำการทหารอเมริกันในประเทศไทย...ไว้นับแต่บัดนั้น.



www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม