ในห้วงช่วงนี้ ผมอาจจะวกมาเรื่องของประชาคมอาเซียนบ่อยหน่อย เพราะประชาคมอาเซียนจะมีส่วนเกี่ยวดองหนองยุ่งกับปากท้องของคนไทยทั้งประเทศในอนาคตอีกไม่เกิน 3 ปี แต่คนไทยยังรับรู้เรื่องของประชาคมอาเซียนกันน้อยไปหน่อย
ผมท่องอินเตอร์เน็ตเจอข่าวสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลวิจัยว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลรู้เรื่องการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ.2558 เพียง 49% ส่วนผู้คนอีก 51% ยอมรับว่าไม่เคยได้ยินและไม่เข้าใจคำนี้
ที่น่าตกใจก็คือ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25-49 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนประเทศ กลายเป็นช่วงอายุของคนที่ทราบรายละเอียดของเออีซีกันน้อยกว่าคนช่วงอายุอื่น
ถึงแม้กลุ่มคนที่รู้เรื่องเออีซี พวกนี้ส่วนใหญ่ก็ยังรู้อย่างกระจัดกระจาย ผิวเผิน ไม่ลึกซึ้ง 21% ของคนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่า ตนทราบแต่เพียงว่าเออีซีเป็นการรวมตัวของประชาชนในเขตเอเชียเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้น
ผลการวิจัยของสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทยยังมีอีกเยอะครับ อ่านแล้วก็เกิดความตระหนกตกใจในความรู้ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับเออีซีที่มีน้อยมาก
ผมชอบอ่านผลวิจัยเพราะเป็นวิทยาศาสตร์ และมีทฤษฎีรองรับอย่างถูกต้อง แต่นอกเหนือจากงานการวิจัย ผมก็นึกถึงเรื่องความรู้เรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละปีมีคนพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นแสนคน ตัวเลขของแรงงานพม่าที่เคยผ่านเมืองไทยสะสมมาในห้วงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมว่าน่าจะเกิน 5 ล้านคน คนพม่าที่เคยผ่านประเทศไทยเหล่านี้เข้าใจภาษาไทย วัฒนธรรมประเพณีไทย วิถีชีวิตของคนไทย และแม้แต่วิธีคิดของคนไทย เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ได้พำนักพักอยู่แต่ในห้องพักและทำงานตามโรงงานเท่านั้น แต่จำนวนหนึ่งได้ไปอยู่ในครอบครัวของคนไทยผู้เป็นนายจ้าง
ไม่ใช่เฉพาะคนพม่าเท่านั้นนะครับ คนเขมร ลาว และญวน ต่างก็เคยผ่านประเทศของเราเป็นล้านคนเช่นกัน เมื่อเปิดประชาคมอาเชียนอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2558 คนเหล่านี้จะได้เปรียบจากการรู้จักประเทศไทย คนไทย เศรษฐกิจไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง
อีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราเสียเปรียบ ผมเห็นว่าสถานศึกษาของไทยมีนักศึกษาของเพื่อนบ้านมาเรียนอยู่จำนวนไม่น้อย แต่นักศึกษาไทยที่ไปเรียนในสถาบันการศึกษาของเพื่อนบ้านกลับมีน้อยมาก นี่แหละครับ เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเราเสียเปรียบในมิติของความรู้ความเข้าใจ ความคุ้นเคยกับเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน
เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ขอเอาคำถามของท่านผู้อ่านที่ค้างอยู่มารับใช้กันหน่อยครับ ท่านถามถึงธุรกิจที่ไทยจะได้เปรียบหลังจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์
อันดับแรกเลย ผมคิดว่าเราได้เปรียบในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะภาพลักษณ์ของประเทศไทยทางด้านนี้เรามีสูง เดิมเราแพ้สิงคโปร์ แล้วก็มาเท่ากัน แต่ปัจจุบันทุกวันนี้เราชนะสิงคโปร์เกินเท่าตัว
ผู้อ่านท่านที่เคารพ แต่ละปีมีคนไข้ต่างประเทศเดินทางมารักษาพยาบาลในเมืองไทยเกิน 1.4 ล้านครั้ง ส่วนสิงคโปร์มีคนเข้ามาแค่ 6 แสนครั้งต่อปี ในขณะที่มาเลเซียมีเพียง 3 แสนครั้ง นี่แหละครับ อันดับ 1 อันดับ 2 และอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน หลังจาก 1 มกราคม 2558 ตัวเลขของคนไข้ที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียจะสูงกว่านี้มาก
อีกอย่างหนึ่งซึ่งเราน่าจะได้เปรียบก็คือ การออกไปทำเกษตรกรรมในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรที่ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแรงงานถูกอย่างพม่า กัมพูชา หรือลาว
อันดับสอง ผมคิดว่าเราได้เปรียบในธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้าไปดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง
การท่องเที่ยวจะบูมตูมตามจากนักท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง 600 ล้านคน และจากนักท่องเที่ยวโลกที่จะเข้ามาเที่ยว 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน หากเราสามารถทำให้ประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นซิงเกิล เดสติเนชั่น ได้อย่างแท้จริง
ผมอยากให้ไทยและอีก 9 ประเทศดำเนินการเรื่องซิงเกิลวีซ่าให้สำเร็จ ผมหมายถึงทำวีซ่าเข้ามาในกลุ่มอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวเทียวไปในอีก 9 ประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยที่ไม่ต้องไปทำวีซ่าซ้ำซ้อนนั่นเองครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น