นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ กล่าวในที่บรรยายพิเศษ เรื่อง"อนาคตประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)"ว่า มีความจำเป็นที่เราต้องมีการเปลี่ยนแนวความคิดการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่มีการลงทุนต่ำกว่าเงินออมตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เป็นประเทศที่มีการลงทุนมากขึ้น เพราะการรองรับ AEC ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้ การลงทุนถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะค่าของเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีทรัพยากรทางการเงินอย่างเหลือเฟือ หากใช้เงินออมอย่างพอเพียง ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะแข่งขันกับเวทีนานาประเทศได้
"การเกิด AEC จะทำให้การเจรจาต่อรองของอาเซียนกับกลุ่มอื่นมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และมีส่วนร่วมในเรื่องผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภายในกลุ่มอาเซียนก็จะต้องมีการแข่งขันกันเองเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจการธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ เมื่ออาเซียนเปิด FTA กับจีน หรือสหรัฐ หรืออียู เราคงจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดในการเจรจาทวิภาคี แต่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในส่วนรวมของกลุ่มอาเซ๊ยน แต่โอกาสที่คนอื่นจะมาสู้กับไทยไม่ได้ก็มีอยู่"นายวีรพงษ์กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเกิด AEC ในปี 2558 จะไม่มีก่ารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่่างกระทันหัน เนื่องจากข้อตกลงจะทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ก่อนอย่างชัดเจน คือการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ในอาเซียนที่จะมีเพิ่มมากขึ้น บริษัทที่มีศักยภาพมากก็จะอยู่ได้ ส่วนบริษัทที่มีศักยภาพน้อยจะหมดไป แต่ละประเทศต้องมีการปรับกฎระเบียบการบริหารจากอุปสรรคการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้แล้ว ในด้านคุณภาพของแรงงานต้องมีศักยภาพสูงขึ้น อีกทั้งระดับการศึกษาของบุคลากรในองค์กรด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น