วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นักเรียน หรือ นักเลง จะต้องตายกันอีกกี่ศพ


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย!! กับโศกนาฏกรรมฝีมือ นักเรียน นักเลง...

หากนึกย้อนไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตีกันของนักเรียน-นักเลงเหล่านี้ หลายครั้งผู้เกี่ยวข้องก็จุดเป็นกระแสสังคมให้หลายฝ่ายลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานรัฐบาล และอาจารย์ของแต่ละสถาบัน

ทว่าผลที่ตามมาคือ เหตุการณ์ตีกันของเหล่านักเรียน-นักเลงก็ยังคงดำรงอยู่ ค่านิยมของการฆ่าคู่อริ และชิงเอาศักดิ์ศรีจอมปลอมเหล่านั้นก็ยังไม่หายไป แม้จะเติมแต่งเหตุผลถึงความคะนองของช่วงวัยรุ่นและความเป็นสังคมช่างกลที่ “เราไม่ทำเขา เขาก็ทำเรา” เส้นแบ่งระหว่างความคะนองของวัยรุ่น กับความบ้าคลั่งของอาชญากร ยังเป็นปัญหาซ้ำซากที่ยังแก้ไข้ไม่ได้เสียที

ย้อนระทึก- สถิติความรุนแรง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาช่างกลตีกันเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ปีต่อปีที่ความเสียหายทิ้งเป็นบาดแผลไว้ให้ผู้โชคร้าย จนไม่รู้จะนับเริ่มต้นที่จุดไหน แค่ลองย้อนไปดูในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงหลายครั้งก็ถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงมาตรการแก้ปัญหาที่ไม่เคยได้ผลเสียที

ตั้งแต่ในปี 2551 มีสถิติการแจ้งเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทรวม 639 ครั้ง โดยหนึ่งในเหยื่อความรุนแรงของปีนั้นคือน้ำผึ้ง กล่ำเพ็ชร หรือพลอย อายุ 31 ปี ผู้จัดการบริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ถูกกระสุนปืนลูกหลงที่ยิงขึ้นมาบนรถโดยสารสองแถวจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

ในปี 2552 แม้หลายฝ่ายจะออกมาย้ำถึงมาตรการแก้ไข แต่ปัญหาช่างกลตีกันยังรุนแรงมากขึ้นกว่าปีก่อน มีตัวเลขรับแจ้งเหตุพุ่งสูงถึง 2,619 ครั้ง เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความตื่นตระหนกและเย้ยกฎหมายบ้านเมืองอย่างอุกอาจคือเหตุการณ์ฟันผิดตัวที่ ประเสริฐ ระไวกลาง หนุ่มโรงงานวัย 45 ปี ถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นกะโหลกร้าว ซี่โครงหัก เพราะใส่เสื้อช็อปอย่างที่ช่างทั่วไปใส่กัน

ปี 2553 เท่าที่ปรากฏตัวเลขพบว่าเพียงครึ่งปีมีการแจ้งเหตุวิวาทของนักเรียนเข้ามาถึง 881 ครั้ง และเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก เมื่อเหยื่อที่ถูกลูกหลงคือ ด.ช.จตุพร ผลผกา หรือน้องเทียน เด็กนักเรียนชั้นป.3 อายุ 9 ขวบ โดยถูกกระสุนปืนลูกซองเข้าที่ใบหน้าและลำคอเสียชีวิต ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายออกมาเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ปี 2554 มีการทำสถิติตลอดทั้งปีไว้ว่ามีคนตายถึง 26 ศพ จากเหตุการณ์นักเรียนตีกันทั้งผู้บริสุทธิ์และเหล่านักเรียนอันธพาล มีเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดคือ ช่างกลถล่มรถเมล์สาย 45 ขณะจอดป้ายฝั่งตรงข้ามอุดมสุขปากซอยสุขุมวิท 101/1 ฝั่งขาเข้า โดยนักเรียนกว่า 100 คนกรูเข้าปิดถนน และล้อมรถเมล์ก่อนขว้างปาสิ่งของต่างๆ และยิงปืนจนสภาพรถเมล์หลังเกิดเหตุแทบจะไม่เหลือชิ้นดี กิตติโชค แบ่งส่วน คนขับรถเมล์คันดังกล่าวเผยถึงวินาทีเฉียดตายว่า ถูกจี้ด้วยปืนพร้อมมีดดาบพาดอยู่ที่คอก่อนตัวเองจะอาศัยช่วงชุลมุนเอาชีวิตรอดมาได้

และเมื่อต้นปี 2555 เหยื่อคนแรกที่เป็นข่าวก็คือ จักรพันธ์ โคตรจักร อายุ 51 ปี พนักงานขับรถเมล์สาย 131 ถูกกระสุนเข้าที่ชายโครงขวาหนึ่งนัด จากนักเรียนที่ขับมอเตอร์ไซค์ประกบเพื่อยิงคู่อริที่อยู่บนรถเมล์ โดยโอภาท เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร(ขสมก.) เผยถึงความเสียหายจากเหตุทะเลาะวิวาทที่เกิดกับขสมก.ว่า ในปี2553 เกิดเหตุ 128 ครั้ง เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 4 คนและในปี 2554 เกิดเหตุ 106 ครั้ง เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 2 คน และปีนี้เกิดเหตุไปแล้ว 28ครั้ง เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 คนและเสียชีวิต 1 คน

ผักชีโรยหน้า

จากหลายกรณีข่าวที่เกิดขึ้น มาตรการแก้ไขปัญหาที่มาจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานรัฐอย่างกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงอาจารย์ของแต่ละสถาบันที่จับมือกันแก้ไขปัญหา โดยมาตรการที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุดเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ของน้องเทียนปี 2553 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีมาตรการตั้งแต่การดูแลจุดเสี่ยง โดยจะตั้งศูนย์ป้องกันการทะเลาะวิวาทของเยาวชน และติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(ซีซีทีวี) รวมถึงการจัดกิจกรรมให้นักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษามาร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน ที่วังตระไคร้ จังหวัดนครนายก แต่ก็ไม่ได้มีการจัดค่ายอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเคยมีความคิดที่จะปิดสถาบันการศึกษาเหล่านี้เป็นการถาวร แต่ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง มีเพียงช่วงปี 2554 ที่เกิดเหตุวิวาทใหญ่ในวันเดียวกันถึงสองครั้ง ทำให้ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในตอนนั้นได้สั่งการให้คณะกรรมสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ปิดโรงเรียนที่ก่อเหตุเป็นเวลา 7 วัน

ล่าสุดหลังเหตุการณ์ยิงคนขับรถเมล์ ศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เผยถึงมาตรการแก้ไขหลังประชุมกับอาจารย์ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) โดยจะมีการติดกล้องซีซีทีวี ด้านซ้ายของรถประจำทางสายที่สุ่มเสี่ยงซึ่งวิ่งผ่านวิทยาลัยอาชีวะกลุ่มเสี่ยงกว่า 10 แห่ง โดยเชื่อว่านักเรียนที่ก่อเหตุจะกลัวกล้องวงจรปิด!!

มาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นตามกระแสเหตุการณ์เท่านั้น ในมุมมองของธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เห็นว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาอย่างเป็นระบบ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างค่านิยมใหม่ให้กับเยาวชน

“เรื่องนักเรียนตีกันมีมานานมากแล้ว มีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในโรงเรียนด้วยกัน หรือในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เป็นไปตามวัยตามหลักจิตวิทยาวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องการการยอมรับ จนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะหันมาคิดกันว่า ทำอย่างนั้นไปได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือลดจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และต้องลดความรุนแรงของเหตุการณ์ด้วย”

ในฐานะที่ทำงานกับเยาวชนมาตลอด แม้นักเรียนอาชีวะมากมายจะสร้างชื่อเสียงในทางที่ดี และมีหนทางที่เป็นแบบอย่างที่ดีอยู่ ทว่าวัยรุ่นนั้นเป็นวัยต่อต้าน เขาเห็นว่า การสั่งให้วัยรุ่นทำตามที่บอกนั้นเป็นวิธีการที่ยังไม่เหมาะสมนัก

“ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งกระทู้ให้เขาได้คิดเองว่าชีวิตควรเลือกเดินไปทางไหน”

โดยวิธีการหนึ่งที่เขายกตัวอย่าง จากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้วก่อนมีโรงเรียนเตรียมทหาร นักเรียนตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศก็เคยยกพวกตีกันมาก่อน แต่เมื่อมีโรงเรียนเตรียมทหารที่ทำให้นักเรียนทั้งสี่เหล่ารู้จักกันมาก่อนและทำให้ไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก

“ถ้าให้ทำแบบนั้น ปีหนึ่งมารวมกันหมด มันคงทำไม่ได้เพราะสถาบันสอนอาชีวะมีเยอะมาก สิ่งที่ทำได้คือการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อวางรากฐานให้เด็กรู้จักกัน ทำรุ่นต่อรุ่น สร้างกิจกรรมทำประโยชน์ให้กับสังคม ต้องทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดค่านิยม วัฒนธรรมใหม่ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”

ต่อเรื่องผลเสียหายของเยาวชนที่เสียคน ธวัชชัยเล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า เงินที่ใช้ให้การทำให้เด็กพวกนี้กลับมาต้องใช้จ่ายเป็นเจ็ดเท่าของเงินที่ให้ป้องกันเด็กเหล่านี้

“การลงทุนให้การวางรากฐานป้องกันไม่ให้เด็กพวกนี้เสียคน ใช้เงินน้อยกว่าการนำเด็กพวกนี้กลับมา นั่นคือเราควรเริ่มต้นป้องกันในระยะยาวได้แล้ว”

แต่ปัจจุบันสิ่งที่ขาดก็คือมาตรการที่ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เป็นระบบ และต่อเนื่อง เมื่อเป็นแบบนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาที่ฝังรากมาอย่างยาวนานจึงเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หลายคนได้ยินคำว่า ขอให้เป็นคนสุดท้ายต่อกรณีเหล่านี้มาจนชาชินแล้ว และดูเหมือนเหยื่อที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความไร้ระเบียบของสังคม ความบ้าคลั่งของวัยคะนอง และความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหานี้ยังคงจะมีต่อไป

10 จุดเสี่ยงภัยที่ควรระวัง
ถนนเพชรเกษม / บางกะปิ / พระโขนง / ถนนพหลโยธิน / เมืองเอก / สุขุมวิท / แยกบางนา / มีนบุรี / เซียร์รังสิต / บางแค

news.hunsa.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม