วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เซลล์แสงอาทิตย์ อย่างไหน ที่เหมาะกับไทย

เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ และเริ่มมีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนพลังงานไฟฟ้า
ที่ผลิตจากปิโตรเลียมที่นับวันจะมีแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้น

…แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็มีหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนอวดอ้างประสิทธิภาพตามมาตร ฐานสากล หรือมาตรฐานยุโรป

แล้วเทคโนโลยีใด!!! ถึงจะเหมาะสม กับการใช้งานในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ที่มีทั้งฝนตก แดดออกและยังมีฝุ่นจำนวนมากอีกด้วย

“ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิว เตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค บอกว่า ปัญหาเหล่านี้ก็คือที่มาของโครงการพัฒนาและประเมิน ผลการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเนคเทค ระยะเวลาโครงการ 5 ปี

เป้าหมายเพื่อทำการศึกษาประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์เหล่านั้น

เบื้องต้นเลือกทดสอบประสิทธิภาพ จากเซลล์แสงอาทิตย์ 7 ชนิด ซึ่งเป็นที่นิยม
ในท้องตลาด อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากซิลิคอนชนิดผลึกเดี่ยวและผลึกรวม เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากอะมอร์ฟัสซิลิคอน ซึ่งเป็นฟิล์มบางน้ำหนักเบา เซลล์แสงอาทิตย์แบบไมโคร-คริสตัลไลน์ แบบซี ไอจีเอส (CIGS)และแบบฮิท (HIT) ที่มีประสิทธิภาพสูงพิเศษ รวมถึงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางอะมอร์ฟัสที่เป็นผลงานการพัฒนาของเนคเทค

ทั้ง 7 ชนิด กำลังผลิตรวม 10 กิโลวัตต์ จะติดตั้งทดสอบบริเวณลานจอดรถของศูนย์ฝึกอบรมวังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

“นางรัตนาวดี อินโอชานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บอกว่า โครงการนี้จะคัดสรรเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อ ลดต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในส่วนของระบบและพื้นที่ติดตั้ง มีทั้งแบบที่มีระบบปรับมุมรับแสงอาทิตย์อัตโนมัติ และแบบติดตั้งอยู่กับที่

ข้อมูลที่ได้จะผ่านการวิเคราะห์ผลตามมาตรฐาน ไออีซี ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่า เทคโนโลยี ใดเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ทำให้คุ้มทุนและคืนทุนได้เร็วขึ้น

ด้าน “ดร.กอบศักดิ์ ศรีประภา” หัวหน้า ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เนคเทค บอกว่า การพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ของเนคเทค ปัจจุบันมีการขยายชนิดมากขึ้นจากเดิมที่มุ่งศึกษาแบบฟิล์มบางอะมอร์ฟัส โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเริ่มศึกษาแบบประสิทธิภาพสูงพิเศษ หรือ HIT และแบบซีไอจีเอส (CIGS) ที่กำลังเป็นที่นิยม

ทั้งนี้ที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการขนาดใหญ่ระดับเมกะวัตต์ จะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 6-7 ปี ส่วนขนาดเล็กหรือที่ใช้ตามบ้านจะต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานกว่านั้นมาก

ขณะที่อายุการใช้งานอุปกรณ์หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 20-25 ปี ตามสเปกที่เขียนมา

แต่นั่นก็คือมาตรฐานการทดสอบที่อุณหภูมิบนแผงประมาณ 25 องศาเซลเซียส ขณะที่เมืองไทยใช้งานจริงที่อุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าลดลง แต่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี

ซึ่งโครงการประเมินผลนี้จะเป็นคำตอบ ไม่เกิน 5 ปี จะรู้ถึงข้อมูลที่แท้จริงในสภาวะของประเทศไทย

ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นพลัง งานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ และไม่มีวันหมดไป ประกอบกับศักยภาพของไทยที่มีปริมาณแสง แดดมากพอ

พลังงานชนิดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ หากเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และคุ้มค่ากับการลงทุน!!!.

นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com

.........................................

ศักยภาพแสงอาทิตย์ในไทย

จากข้อมูลแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุดระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม ส่วนบริเวณที่ได้รับรังสิดวงอาทิตย์สูงสุดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง นอกจากนี้พื้นที่ทั่วประเทศก็ได้รับรัง่สีเฉลี่ยที่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์พลังงานจากแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ในปี 2554 ประเทศไทย มีการติดตั้งการใช้งานระบบไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณ 100,691.173 กิโลวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง กิจกรรมที่มีการนำเซลล์แสงอาทิตย์ไปใช้มากที่สุดคือระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ รองลงมาคือระบบผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบจำหน่าย ระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบสูบน้ำตามลำดับ



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม