วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเมืองร้าว ทำเศรษฐกิจหด

ช่วงนี้ดูเหมือนประเทศไทยจะไม่ค่อยมีข่าวดีเท่าใดนัก ข่าวที่ผมได้มีโอกาสอ่านบนเครื่อง (ช่วงนี้บินบ่อยครับ!) ในรอบสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นข่าวที่ฟังดูหวาดเสียวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นข่าว ส.ส.ทะเลาะกัน ส.ส.ซีกฝ่ายค้านทะเลาะกับประธานฯ ความรุนแรง (ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นความร้อนแรงทางอารมณ์ ยังไม่ถึงขั้นทางกายภาพ) จากผู้ชุมนุมต้านฝ่ายรัฐบาล และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ (ถึงขั้นที่บางท่านให้สัมภาษณ์ทำนองว่าการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ได้เกิดขึ้นแล้ว!)
นั่นคือ “ข่าวการเมือง” ที่ส่อแววให้เห็น (ค่อนข้างชัด?) ว่า “การเมืองไทยทำท่าจะยุ่ง”
ยังไม่จบข่าวครับ
ข่าวคราวทางเศรษฐกิจก็ดูไม่ถึงกับน้อยหน้าเสียทีเดียว
อันดับแรก “ข่าวเศรษฐกิจสภาพยุโรป” ลองฟังคำให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาดู “After this week’s European Central Bank meeting, President Mario Draghi said there’s no “silver bullet” for the problems plaguing the euro area..........”
และเมื่อวานนี้เอง (8 มิ.ย.) ประธานาธิบดีโอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ก็กล่าวเตือนสหภาพยุโรปถึงอนาคตที่น่าหวาดเสียวว่า “Barack Obama has cautioned Europe faces a "downwards spiral" unless it acts now to recapitalise its banks and stimulate growth..........”
อันดับถัดมา “ข่าวเศรษฐกิจจีน” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
A nationwide real estate downturn, stalling exports and declining consumer confidence have produced what a Chinese cabinet adviser, quoted on the official government Web site on Thursday, characterized as a “sharp slowdown in the economy.”
ซึ่งทำให้นายกฯ เหวินเจียเป่า ต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีด่วน และมีประกาศทำนองว่ารัฐบาลอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก็ได้ในอนาคต หากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะก่อให้เกิดปัญหา “เสถียรภาพ” ขึ้น
อันดับถัดมา “ข่าวเศรษฐกิจอินเดีย” เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (New York Times) ซึ่งก็ดูไม่น้อยหน้าใคร
“India’s economy grew 6.5 percent in the fiscal year that ended in March, down from 8.4 percent the year before, as sectors like manufacturing, mining and agriculture did poorly ..........”
อันดับสุดท้าย “ข่าวเศรษฐกิจไทย” รายงานโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
“ตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดใน 4 เดือนแรกของปีนี้ จะพบว่ามูลค่าการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 มูลค่าการส่งออกไปยุโรปลดลงร้อยละ 15.6 และมูลค่าการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ทำให้ผลรวมของการส่งออกสุทธิของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อคิดเป็นดอลลาร์ลดลงร้อยละ 3.86..........”
เศรษฐกิจไทยน่าจะมีอนาคตที่เลื่อนลอยเหมือนการเมืองไทย
ที่อารัมภบทมาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะบอกท่านผู้อ่านถึงความในใจของผมสองข้อ
ข้อแรก ไม่ว่าจะรักและหวังดีต่อประเทศไทยเพียงใดก็ตาม ขณะนี้ผมคิดว่าคงจะต้องพยายาม “ปลง” เสียให้ได้ ทำใจเสียให้ดี เพราะนับจากนี้ต่อไป ประเทศไทยจะค่อยๆ เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แม้แต่พระเจ้า (หากมี) ก็ยังยากจะคาดการณ์ได้
ในทางการเมือง ผมรู้น้อยเกินไป และมีผู้รู้จำนวนมากให้ความรู้ท่านผู้อ่านอยู่แล้ว แต่หากผมจะให้ความเห็นก็คงจะขอพูดแต่เพียงว่าความแตกต่างทางการเมืองหากเป็นเรื่องในระดับ Fundamentals ก็คงจะแก้ด้วยวิธีการทาง Technicals ไม่ได้ผลอย่างแน่นอน
ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะแทบไม่มีใครพูดถึง วิเคราะห์ หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง เสมือนหนึ่งว่าเศรษฐกิจไทยยัง “สบายๆ” สไตล์เบิร์ด (ธงไชย แม็คอินไตย)
และนี่ก็คือที่มาของความในใจข้อสองของผม
ข้อสอง ผมกังวลใจกับการวางนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งชุดนี้ด้วย ซึ่งดูเหมือนจะลืม มองข้าม หรือไม่อยากคิดถึงปัญหาที่เป็นหัวใจพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยสองสามปัญหา ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกดี เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน (โดยเฉพาะจีน) ดี การเมืองโอเค ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่โผล่หน้าออกมา แต่ในขณะนี้ และในอนาคตที่จะเป็นไปที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน และการเมืองภายในกำลังโลดแล่นเข้าสู่หลุมดำ ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้จะเริ่มสำแดงตนอีกครั้ง และน่าที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องพึงสำเหนียก และเริ่มขบคิดหาหนทางแก้ไขได้แล้ว (กระมัง) ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย (ซึ่งก็จะผลักให้การเมืองเข้าสู่ขั้นแตกหักด้วยอีกแรงหนึ่ง)
ผมขออนุญาตนำเสนอปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่เสนอแนวทางแก้ไข (ไว้ค่อยสนทนากันใหม่)
ปัญหาแรก ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างชาติทั้งในแง่ของ “การส่งออก” (รองรับสินค้าไทย) “การนำเข้า” (วัตถุดิบสำคัญบางอย่าง (เช่นปุ๋ย ยา) เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เราไม่มีและ (ยัง) ผลิตไม่ได้) “การลงทุน” (ทั้งโดยตรงและโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์) และที่สำคัญ “การท่องเที่ยว” (ซึ่ง “In Bound” จากต่างชาติใหญ่กว่า “ไทยเที่ยวไทย” อย่างเทียบกันไม่ได้)
โครงสร้างเช่นว่าข้างต้น เป็นโครงสร้างที่เปราะบาง และสะท้อนให้เห็นถึงความ “ขี้โรค” ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่เมื่อใดก็ตามที่ภูมิคุ้มกันตก (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากขาดอาหารเสริม หรือวิตามินจากต่างประเทศ นั่นแหละ) ก็จะเกิดอาการป่วยขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวสักครั้ง พอได้อาหารเสริมและวิตามินชั้นดี (จากเมืองนอก) อัดเข้าไปได้ที่อาการก็หายไป วัฏจักรเช่นนี้มีมาช้านานแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการรักษา (อย่างจริงจัง) มีเพียงแต่พวกฉายหนังกลางแปลง ที่นิยมแจก “ยาผีบอก” พ่วง “โวหาร (หาเสียง)” ในบางช่วงบางขณะเท่านั้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ดูเหมือนอาหารเสริมและวิตามินจากเมืองนอกทำท่าจะเหือดหาย และคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้มา อาการโรคก็กำลังเริ่มกำเริบขึ้นแล้ว คอยดูต่อไปอีกสักหกเดือนก็จะรู้แจ้งว่าไม่ใช่ “ไข้หวัดธรรมดา” ที่จามไม่กี่ครั้ง ไอไม่กี่แก๊ก เดี๋ยวก็หายเอง
ปัญหาที่สอง เป็นปัญหาที่หนักหนากว่า และคงต้องใช้ความพยายามจากทุกภาคส่วน หากจะแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงอย่าง “ราบรื่น”
ปัญหานี้ก็คือ ปัญหาความไม่สมดุลทางโครงสร้าง และการแบ่งสรรทรัพยากรเศรษฐกิจในระบบระหว่างชนชั้น และชั้นชนต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ต้องคุยกันต่อในโอกาสหน้าครับ.
วีระ มานะคงตรีชีพ
10 มิถุนายน 2555

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม