“เทคโนโลยีในมุมมองของผมคือสิ่งที่ช่วยให้เวลา 24 ชั่วโมงของผมทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นๆ” ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม บอกถึงข้อดีของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งตัว ดร.กมล นับเป็นคนหนึ่งที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนเรียกได้ว่าทุกนาทีของเขาแม้กระทั่งเวลานอน ไม่มีสักวินาทีที่ถูกปล่อยผ่านไปโดยที่งานของไม่เดินหน้า
ดร.กมล ผู้นี้เป็นคณบดีหนุ่มรุ่นใหม่ ซึ่งเคยทำงานเป็นดิจิตอลดีไซเนอร์ให้กับบริษัท Skidmore Owings & Merrill LLP (SOM) บริษัทด้านการออกแบบชั้นนำของโลก เป็นบริษัทที่ออกแบบตึก บอสตัน แบงก์ และตึก เบิร์ก ออฟ ดูไบ ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible 4
จากนั้นเขาเดินทางกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์คินเดส และเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ดร.กมล จึงริเริ่มการเปิดสาขาวิชาดิจิตอลอาร์ต จนพัฒนามาเป็นคณะดิจิทัลมีเดีย เพื่อพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาวิชาการและกรรมการในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรมหาชนในหลายๆ องค์กร และยังมีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
“ตอนนี้บทบาทในมหาวิทยาลัยศรีปทุมของผม คือการสร้างองค์ความรู้ด้านดิจิตอลคอนเทนต์ เพื่อตอบรับทิศทางของประเทศที่กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ก็คืออุตสาหกรรมด้านดิจิตอล โดยแนวคิดของผมก็คือประเทศไทยของเรามีผลงานด้านศิลปะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ลำพังศิลปะอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการสร้างมูลค่าให้กับประเทศ เพราะบางคนไม่ได้มองแค่ศิลปะเป็นเพียงความงาม แต่ต้องการใช้งานในชีวิตประจำวัน
ผมจึงมองว่าการนำศิลปะกับดิจิตอลเข้ามารวมกันและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จะทำให้เราสร้างความแตกต่างและเป็นข้อได้เปรียบในการสร้างบุคลากรเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลในอนาคต” อาจารย์หนุ่ม เล่าวิสัยทัศน์อนาคตอุตสาหกรรมดิจิตอลของประเทศไทยที่ยังคงได้เปรียบและพัฒนาไปได้อีกไกลในเวทีระดับโลก
ในขณะการใช้งานเทคโนโลยีส่วนตัวของ ดร.กมล เอง เรียกได้ว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และลงตัว ภายในกระเป๋าทำงานใบเท่ของอาจารย์ เต็มไปด้วยแกดเจ็ตที่ช่วยในเรื่องการเรียนการสอนและการทำงานในเวลาเดียว ไอโฟน แมคบุ๊กโปร ไอแพด เมาส์พกพา เอ็กซ์เทอร์นอล ฮาร์ดไดรฟ์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ยังมีในรถและห้องทำงาน
ดร.กมล บอกว่า แกดเจ็ตเหล่านี้ขาดไม่ได้เลยสักชิ้น 80% ของงานที่ได้ในแต่ละวัน เกิดมาจากอุปกรณ์ที่ทำให้เวลาทุกนาทีของเขามีมากกว่าคนอื่นๆ ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงโดยระบบอินเทอร์เน็ต เขามีวิชวลออฟฟิศอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต สามารถดูงานประชุมงานกับเพื่อนร่วมงานได้ โดยที่ตัวเองยังรอสอนที่มหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
เคล็ดลับในการใช้เทคโนโลยีของ ดร.กมล ก็คือการใช้โทรศัพท์ 2 เครื่อง เพื่อแยกแยะงานอย่างชัดเจน ใช้โทรศัพท์ในการโทร.ติดต่อ และใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงข้อมูลด้วยไอแพดเปิดดูงานที่ส่งเข้ามาและตอบกลับไปให้แก้ไขงานในทันที คล้ายกับการตีปิงปองเพื่อให้งานเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเขาจะทำงานชิ้นสุดท้ายก่อนนอนประมาณ 5 ทุ่ม ด้วยการสไคป์ถึงเอาต์ซอร์สที่ชิคาโก และโยนงานให้ทำต่อในดร็อปบ็อกซ์ เช้าวันต่อมาเอาต์ซอร์สจะส่งงานที่แก้ไขแล้วกลับมา เมื่อตื่นเช้ามาก็จะเห็นชิ้นงานที่แก้ไขแล้วเพื่อส่งต่อให้กับลูกน้องคนไทยทำงานชิ้นนั้นต่อ
“ผมมีความสุขมากกับการทำงานแบบนี้ และผมก็มีแผนที่จะขยายงานด้วยการจ้างเอาต์ซอร์สที่ชิคาโกเพิ่ม เพราะงานที่เมืองไทยช่วงกลางวันผมมีงานสอนที่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าหนักอยู่แล้ว ยังมีงานบริษัทที่ต้องดูแล หากผมเลิกสอนตอนเย็นกลับไปดูงาน และส่งต่อให้ลูกน้องคนไทยทำต่อก็คงได้เวลานอนของเขาแล้ว
แต่ที่ชิคาโกเป็นเวลากลางวัน ผมสรุปงานส่งต่อให้เขาทำ เช้ามาผมเห็นของก็เท่ากับว่าวงรอบการทำงานกับเวลาได้ต่อเนื่องกันพอดี เป็นการใช้ช่วงเวลากลางวันกลางคืนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องอินเทอร์เน็ต หากขาดไปผมก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างทุกวันนี้
โชคดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือในช่วงที่ผมกลับมาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เราสามารถทำงานข้ามประเทศได้เหมือนเราอยู่ใกล้กันนิดเดียว และยิ่งทำให้เวลาของผม 24 ชั่วโมงทำงานได้มากกว่าคนอื่นๆ” อาจารย์หนุ่มบอกเคล็ดลับการทำงานของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารเวลา การบริหารคน และการบริหารเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือทุกชิ้นให้เป็นประโยชน์
นอกจากนี้ ดร.กมล ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีของคนไทยอีกว่า ปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่คือคิดว่าเทคโนโลยีเป็นของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่จริงแล้วเทคโนโลยีเป็นของคนทุกคน อย่างไอแพดก็เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ ใช้งานง่าย มีเฟสไทม์เห็นหน้าลูกหลาน แต่เราก็ยังใช้สมาร์ตโฟนโทร.เข้าออกรับสายกันเป็นส่วนใหญ่ วันนี้เราไม่ต้องคิดทำอะไรใหม่ๆ ก็ได้ แค่เราใช้สิ่งที่มีอยู่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเรากับธุรกิจของเราให้มากที่สุด ก็ถือว่าใช้เทคโนโลยีได้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ มีแต่สิ่งเดิมๆ ที่เราเอามาสร้างให้ดีกว่า
24 ชั่วโมงที่มากกว่า
กล้องแคนนอน 7D งานสถาปนิกต้องถ่ายงานสถาปัตยกรรม ทุกภาพที่เราเก็บไว้จะกลายเป็นคลังความรู้ และแรงบันดาลใจส่วนตัว ยิ่งเรารู้มากเห็นมากเราก็ได้เปรียบคนอื่น
แมคบุ๊กโปร หัวใจหลักของงานออกแบบ เปิดเมื่อต้องการเริ่มสร้างและแก้ไขงานต่างๆ สำหรับการนั่งทำงานอย่างจริงจัง ผลงานเกือบทุกชิ้นของเขาเริ่มจากแมคบุ๊กเครื่องนี้
ไอโฟน ไม่ได้พูดเล่นว่า ดร.กมล มีไอโฟน 2 เครื่องจริงๆ นะ เครื่องหนึ่งเรื่องงาน อีกเครื่องสำหรับเรื่องส่วนตัว เป็นการแยกอย่างชัดเจน แต่ทุกเครื่องก็สามารถใช้แทนกันได้หมดเวลาที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งแบตเตอรี่หมด ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและทุกอย่างก็สามารถใช้งานแทนกันได้
นิวไอแพด อาจจะเรียกได้ว่าเขาคือสาวกของลัทธิแอปเปิลแหว่ง ไอแพดเครื่องนี้ไม่แตกต่างอะไรกับไม้ตีปิงปอง ทำให้เขาสามารถเปิดอ่านงานที่ส่งกลับมาและคอมเมนต์กลับไปได้ในเวลาไม่กี่นาที
เมาส์ไร้สาย เมาส์ดีไซน์บางเบาปรับโค้งงอได้ตามสรีระผู้ใช้ สำหรับการต่อพรีเซนต์งานลูกค้า อีกหนึ่งของเก๋ๆ ติดเสื้อสูทเท่ๆ ของ ดร.กมล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น