วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อัมพาลส่งออก เหตุการเมืองหวั่น

หากตัวเลขไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วจะส่งผลต่อตำแหน่งหรือไม่ คิดว่าคงไม่กระทบต่อตำแหน่งของผมนะ เพราะว่าการมาทำหน้าที่ตรงนี้ ผมไม่ได้เสนอตัวมา ซึ่งยอมรับตรงๆ ว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผมเป็นนักการเมืองที่มาจากต่างจังหวัด ก็รู้เข้าใจปัญหาสังคมปัญหาต่างๆ มากกว่า แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ และมีนโยบายสำคัญหลายเรื่องที่ต้องการให้เราเข้ามาช่วยทำ
จากการที่ตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัวลดลงติดต่อกัน โดยล่าสุดเดือน เม.ย. หดตัว 3.67% รวม 4 เดือนขยายตัวลดลง 3.86% จากปัญหาผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้การผลิตสินค้าส่งออกหยุดชะงักลง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ซ้ำเติมในขณะนี้
แนวทางการแก้ปัญหาและผลักดันการส่งออกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร "ภูมิ สาระผล" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมการส่งออก ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ”อีโคโฟกัส”

0 สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยในขณะนี้
สถานการณ์การส่งออกในขณะนี้ถือว่ายังเป็นสถานการณ์ที่ไม่นิ่ง ที่ผ่านมาในระยะ 4 เดือนแรกของปี ตัวเลขการส่งออกของไทยยังคงติดลบอยู่ แต่สิ่งที่เรามีความมั่นใจว่าการส่งออกจะกลับมาได้อยู่ คือในครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกจะกลับมาดีขึ้น และจะเป็นตัวฉุดให้ตัวเลขที่เคยติดลบในช่วงที่ผ่านมา เฉลี่ยรวมแล้วทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ ซึ่งการตั้งเป้าการส่งออกทั้งปีที่จะขยายตัว 15% ก็ยังเป็นเป้าที่เราเชื่อว่า ถ้าไม่มีปรากฏการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น จากสถานการณ์ปกติที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ยังเชื่อว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่าการส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวที่ 9% ซึ่งส่วนใหญ่ที่เขาประเมินนั้นจะประเมินในอัตราที่ต่ำ แต่เราก็ยังมองว่าโอกาสที่เราจะส่งออกได้ 15% ก็ยังมีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะติดลบและเหลือระยะเวลาอีก 8 เดือน ต้องทำให้ได้เดือนละ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ โดยส่วนใหญ่ไปคิดเอาเองว่าจะต้องส่งออกให้ได้เดือนละเท่านั้น แต่ความจริงบางเดือนอาจจะไม่ถึง แต่ช่วงปลายปี 3-4 เดือนสุดท้ายอาจมีการส่งออกอาจพุ่งทะลุมูลค่าดังกล่าวก็ได้ เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าการส่งออกต้องมีมูลค่ารายเดือนอย่างนั้น แต่จะมองภาพรวมให้เฉลี่ยกันแล้ว แต่ละเดือนการส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย
โดยสินค้าที่เราคาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้ภาพรวมการส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ไก่แช่แข็ง และสินค้าที่จะทำให้การส่งออกของเรามีศักยภาพสูงขึ้น คือสินค้าอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวจากน้ำท่วม จากขณะนี้เป็นสินค้าตัวปัญหาหลักที่ฉุดการส่งออกของเรา ซึ่งจะกลับมาส่งออกได้อีกครั้งและมีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน ในรายสินค้าที่ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า ยานยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวฉุดให้ภาพรวมการส่งออกเป็นไปอย่างเป้าหมาย เพราะการส่งออกในกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันถึง 36.8%

0 การแก้ปัญหาในขณะนี้ในการฟื้นฟูการส่งออกเป็นอย่างไรบ้าง
ปัญหาการส่งออกที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ การส่งออกที่ชะลอตัวลงในตลาดยุโรป ที่มีปัญหาเศรษฐกิจอยู่ตอนนี้ เราก็พยายามที่จะแก้ไขโดยการมองไปที่ตลาดส่งออกอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพื่อเข้ามาทดแทน เช่น อาเซียน จีน อินเดียตะวันออกกลาง หรือละตินอเมริกา เพื่อที่จะทดแทนตลาดหลักของเราที่การส่งออกชะลอตัวลงทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเราก็ยังรักษาสภาพตลาดหลักนั้นอยู่ โดยทูตพาณิชย์ของเราก็ทำงานหนักกันพอสมควรในการรักษาตลาดและกระตุ้นการส่งออกในตลาดใหม่ โดยล่าสุดได้ให้นโยบายทูตพาณิชย์ทั้งหมดว่าทุกคนจะต้องรวบรวมข้อมูลสถานการณ์แต่ละตลาด และมีการรายงานตรงเข้ามาเพื่อนำข้อมูลมาขับเคลื่อนและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในระยะเวลา 8 เดือนที่เหลือนั้นคิดว่ายังพอมีเวลาให้สามารถแก้ปัญหาและขับเคลื่อนการส่งออกให้กลับมาฟื้นตัวขึ้นได้
โดยมาตรการขณะนี้ จะมีการแยกออกมาเป็นรายตลาด ว่าต้องการสินค้าส่งออกประเภทไหนบ้าง ซึ่งทูตพาณิชย์จะต้องมีการทำการบ้านเก็บข้อมูลรายตลาดและตัวสินค้าที่เขามีความต้องการเพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งให้กับภาคเอกชนผู้ส่งออกในการบุกเจาะตลาดเพื่อขายสินค้า นอกจากนี้ เรายังมีประชุมร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกของไทยเพื่อสรุปสถานการณ์และรับฟังอุปสรรคปัญหาของผู้ส่งออกแต่ละรายเพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้

0 ประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร
การส่งออกในวันนี้หลายคนอาจจะพูดว่าเราถดถอยลง แต่เราคิดในทางกลับกันว่ามันก็ยังมีโอกาสอยู่อีกมาก แม้ตอนนี้เรายังไม่เห็นชัด แต่ถ้าเรากรุยทางและมีการขับเคลื่อนเข้าไปหนักๆ เรายังมีโอกาสที่จะผลักดันการส่งออกได้อยู่
เรามีกิจกรรมในการขับเคลื่อนการส่งออกอยู่ในมือขณะนี้เยอะมาก ตั้งแต่แผนพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาโลจิสติกส์เพื่อการส่งออก และการจัดการแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศด้วยอีก 100 กว่างาน เพื่อนำสินค้าไทยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยออกไปยังตลาดต่างประเทศ และการจัดงานในต่างประเทศที่จัดโดยหน่วยงานของประเทศไทยเราเองอีก 22 งาน ซึ่งแต่ละงานมีผู้เข้าร่วมงานทั้งผู้ซื้อและผู้ขายหลายพันงาน พร้อมมีการหารือกับคณะผู้แทนการค้าเพื่อเจรจาสร้างความสัมพันธ์อีก 80 กว่าคณะ และมีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอีก ซึ่งทั้งหมดเป็นกิจกรรมส่งเสริมและขับเคลื่อนการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น

0 ประเมินปัจจัยลบในการส่งออกของไทย
ปัญหาขณะนี้ที่เราไม่อยากให้เกิด คือ ปัญหาทางการเมือง แม้ปัญหาทางการเมืองเบื้องต้นอาจจะมีผลกระทบน้อยมากกับการส่งออกหากเทียบกับภาคการท่องเที่ยว การลงทุน ที่ชาวต่างประเทศจะต้องเดินทางเข้ามาในไทย แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือส่อไปในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น มันจะกระทบต่อการทำการค้าการส่งออกมาก โดยหลายประเทศอาจจะไม่อยากคุยทำข้อตกลงการค้ากับเราได้เลยถ้าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ถูกต้องชอบทำ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนั้นเราอยู่ในสภาวะต้องทำงานหนัก แต่หากการเมืองมาทำให้เกิดภาวะที่หนักขึ้นอีก ก็จะทำให้เราเสียตลาด
การที่เสียตลาดในต่างประเทศ คือเขาจะไม่รอสินค้าเรา เขาก็จะหาตลาดอื่นหาสินค้าให้กับเขาแทน ซึ่งหากเขาติดใจสินค้าที่อื่นไปแล้ว เราจะไปช่วงชิงตลาดคืนนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ขณะนี้สินค้าที่เราไม่สามารถส่งออกไปในช่วงน้ำท่วม ประเทศผู้ค้าก็ไปหาสินค้าที่อื่น ตอนนี้ทูตพาณิชย์ต้องทำงานหนัก เพราะเมื่อเรากับมาผลิตสินค้าได้แล้ว เราต้องทวงตลาดส่งออกคืน อาจจะต้องมีข้อเสนอที่ดีเพื่อให้เห็นว่าของเราดีกว่าเพื่อที่จะได้ตลาดนั้นคืนมา
ส่วนปัจจัยลบด้านอื่นๆ ที่มีการประเมินและเตรียมแก้ปัญหา คือ การสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าส่งออกของไทยหลังการฟื้นฟูโรงงานและกลับมาผลิตสินค้าได้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ยังผลิตสินค้าได้ไม่เต็มร้อย แต่เท่าที่รับฟังข้อมูลมา อีกสักระยะการผลิตคงกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาที่หากไม่สงบก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องรับภาระด้านต้นทุนที่สูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และค่าเงินบาทที่มีความผันผวน ก็อาจจะยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป และยังมีเรื่องราคาสินค้าส่งออกหลายอย่างที่มีมูลค่าลดลงในตลาดโลก เช่น ยางพารา เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การส่งออกลดลงไปด้วย ก็เป็นปัญหาที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

0 มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนว่าการส่งออกไทยทั้งปีจะเป็นไปตามเป้า 15% เพราะตัวเลขส่งออกตอนนี้ยังห่างจากเป้ามาก
พูดถึงความมั่นใจเป้า 15% ต้องเรียนว่าเป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าจะทำให้ได้ ซึ่งตอนนี้มันมีอุปสรรคมากมาย ถ้าผมในฐานะผู้กำกับดูแลที่จะต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ เพราะหากเราท้อถอย ไม่เอา แล้วปรับเป้าหมายลดลง หรือไม่มีเป้าหมาย ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานก็จะหยุดตามไปด้วย การขับเคลื่อนอย่างมีศักยภาพสูงก็จะลดลง สุดท้ายเราก็อาจไม่ได้ตามเป้า หรือแย่ไปเลย คือส่งออกติดลบ แต่ถ้าเรายืนหยัดที่จะทำให้ได้ทั้งๆ ที่มันยาก โดยสมมติว่าหากการส่งออกหลุดไปเหลือ 14% จะดีกว่าไหมกับการที่เราจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราต้องยอมถอย ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าสู้ดีกว่าถอย ซึ่งยังเชื่อว่าในครึ่งปีหลัง การส่งออกของไทยจะดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ

0 กังวลไหมว่าตัวเลขจะไม่ถึงเป้า และหากตัวเลขไม่เป็นไปตามเป้า จะกระทบต่อตำแหน่งทางการเมืองในเก้าอี้ รมช.พาณิชย์
ก็ยังมีความกังวลนะกับตัวเลขการส่งออก ส่วนหากตัวเลขไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วจะส่งผลต่อตำแหน่งหรือไม่ คิดว่าคงไม่กระทบต่อตำแหน่งของผมนะ เพราะว่าการมาทำหน้าที่ตรงนี้ ผมไม่ได้เสนอตัวมา ซึ่งยอมรับตรงๆ ว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผมเป็นนักการเมืองที่มาจากต่างจังหวัด ก็รู้เข้าใจปัญหาสังคมปัญหาต่างๆ มากกว่า แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ และมีนโยบายสำคัญหลายเรื่องที่ต้องการให้เราเข้ามาช่วยทำ เช่น นโยบายจำนำข้าว ซึ่งในช่วงแรกที่เข้ามาก็ได้ดูแลรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายมาตลอด ซึ่งพอปรับเปลี่ยน ครม.ใหม่ ได้รับมอบหมายให้มาดูกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกรมส่งเสริมการส่งออก ก็ทำเต็มที่ ส่วนจะได้ผลเต็มร้อยไม่เต็มร้อย ก็คงต้องไปพิจารณากันดูอีกครั้งหนึ่ง
ไม่ว่ารัฐบาลจะมอบหมายให้ผมอยู่ที่ไหน อยู่ช้า อยู่นาน อยู่เร็วแค่ไหน งานที่ได้รับมอบหมายก็จะทำเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่ยังทำงานอยู่.



www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม