เพิ่ง Skype กับ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ซึ่งขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ คุณนิติภูมิอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ลงไปรับใช้สโมสรโรตารีปัตตานีกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๐ จังหวัดปัตตานี พูดให้ข้าราชการครู นักธุรกิจ และบุคคลผู้สนใจ เรื่องการเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียน พ่อบอกว่า การเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์เมื่อ 1 มกราคม 2558 นี่ เยาวชนคนไทยที่จะได้เปรียบมากที่สุดก็คือ เยาวชนคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความเป็นมุสลิม บวกกับความสามารถพูดภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาที่ใช้ในอินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งแม้ไม่รู้ภาษาอังกฤษ เยาวชนคนพวกนี้ก็สามารถสื่อสารได้ในหมู่ประชากรเกือบ 300 ล้าน
เยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปรียบกว่าเยาวชนจากจังหวัดอื่นอีก เมื่อ ACTS สมบูรณ์ ACTS คำนี้ย่อมาจาก ASEAN Credit Transfer System หมายถึง ระบบถ่ายโอนหน่วยกิตของอาเซียน
1 มกราคม 2558 การเคลื่อนย้ายไปมาของบุคลากรทางการศึกษาจะอุบัติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ฯลฯ เพราะวันนั้น 10 ประเทศของเราจะมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน มีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่เป็นองค์การมหาชน มีการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในประเทศอาเซียนด้วยกันในลักษณะโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ซึ่งไม่ใช่การร่วมมือแบบช้าเรื่อยเฉื่อยแฉะแบบเมื่อก่อน
พ่อเล่าให้ฟังทาง Skype ว่า หากเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ พ่อจะเรียนปริญญาตรีโดยเทอมแรกลงทะเบียนเรียนในประเทศไทย เทอมต่อไปจะเรียนในมาเลเซีย และเวียนไปเรียนที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และบรูไน โดยเลือกเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ
ภายในเวลา 4 ปี (8 ภาคเรียนปกติ+4 ภาคเรียนฤดูร้อน) ก็จะเรียนจบครบทั้ง 10 ประเทศ ในอนาคต ประชาคมอาเซียนของเราจะมีหน่วยงานกลางมาประเมินปริญญาตรีที่ได้ว่าเป็นศิลปศาสตร์ หรือวิทยาศาสตรบัณฑิต และทางสาขาใด
ผู้เรียนปริญญาในหลายประเทศแบบนี้ เมื่อมีวันว่าง ก็ควรออกเทียวเที่ยวไป ไปซึมซับวัฒนธรรมประเพณีและภาษา บัณฑิตอย่างนี้นี่แหละครับ ที่จะเป็นมิสเตอร์หรือมิสอาเซียนคุณภาพ และจะเป็นพวกที่มี Spirit of ASEAN ผมหมายถึงจะมีวิญญาณอาเซียนของแท้ บัณฑิตพวกนี้ไม่ต้องกลัวตกงานดอกครับ ทุกกระทรวงทบวงกรมอยากได้ผู้ชำนาญแบบนี้ บริษัทโรงงานห้างร้านเอกชนก็เหมือนกัน ต้องการคนที่เข้าใจอาเซียนโดยมีประสบ-การณ์จากการไปอุจจาระปัสสาวะในทุกประเทศของแท้อย่างนี้เช่นกัน
พ.ศ.2552-2557 รัฐบาลไทยจัดงบประมาณไว้มากถึง 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการผลักดันให้ราชอาณาจักรไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน หรือที่มีคนเรียกกันโก้ๆ ว่า Education Hub
ตอนที่ตั้งโครงการนี้ในระยะแรก เราก็มีความฝันกันไว้ว่า พอสิ้น พ.ศ.2557 จะมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนต่อในประเทศของเรามากถึง 3 แสนคน แต่ผมขอเรียนนะครับว่าผิดหวัง ทั้งที่งบประมาณก้อนนี้ใช้ไปเยอะแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ไปในทางสร้างโน้น ซื้อนี่ หมดไปกับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อเพิ่มพื้นที่อาคารและสิ่งของ และการไปทัศนศึกษา (เที่ยว) ของผู้คนในองค์กรซะหมด ที่จะเอาเงินมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นมีน้อยมาก
ขณะที่ผมเขียนหนังสือรับใช้ท่านทั้งหลายในขณะนี้ ก็ พ.ศ.2555 แล้ว ยังไม่เห็นมีวี่แววว่าราชอาณาจักรไทยไชโยของเราจะเป็น Education Hub ตรงไหนเลย ตรงกันข้าม ชื่อเสียงทางด้านความด้อยคุณภาพการศึกษาของเรากลับแล่บแพล็บออกไปให้เพื่อนบ้านได้ยิน จนเดี๋ยวนี้เริ่มเป็นที่รู้กันในหมู่เยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้านว่า ถ้าอยากได้ปริญญาโดยที่ไม่ต้องตั้งใจเรียน ให้มาเรียนต่อในประเทศไทย เดินไปเดินมาเพียงสี่ปีก็มีปริญญากลับบ้าน ฟังอย่างนี้แล้วก็เจ็บร้าวลึกลงไปในหัวใจของคนไทยนะครับ
ผมเคยตามพ่อไปประชุมที่สิงคโปร์ไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง คณะผู้แทนไทยมีแต่พวกที่มีปริญญาโทและเอก ฝั่งมาเลเซียและสิงคโปร์นั้น คณะผู้มาประชุมจะมีเพียง 1-2 คน ส่วนใหญ่จบแค่ปริญญาตรี แต่เมื่อถึงคราวอภิปราย ถกเถียง หาข้อสรุป คณะผู้แทนจากฝั่งคนไทยจะนั่งเงียบเชียบ และแก้เขินด้วยการจดบันทึก จดทุกเสียงที่ลอดออกมาจากปากของผู้เข้าร่วมประชุม เรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้สอนให้บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของเราคิดวิเคราะห์ มีการสังเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีการมีวิจารณญาณ และกล้าแสดงออก
ผมไม่ทราบว่าเราจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือเป็นศูนย์ กลางการขายปริญญาในอาเซียนกันแน่ เดี๋ยวนี้มีหลายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเริ่มสงสัยกันแล้วว่าสถาบันการศึกษาของไทยไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักการค้นคว้า บางคนสงสัยว่าทำไมเราไม่สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เด็กชอบตั้งคำถาม เราเรียนแบบรอรับคำสอน และรับความรู้จากครูบาอาจารย์เพียงอย่างเดียว พึ่งอาจารย์ดีกว่า ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ส่วนใครโต้แย้งกับครูบาอาจารย์ คนนั้นเป็นพวกก้าวร้าว ลองดี อวดดี มีปัญหา ฯลฯ
ผมเขียนเรื่องการศึกษาของไทยแล้ว ก็มักจะปวดหัว ตัวร้อน และไม่สบายไปเสียทุกครั้งเพราะการศึกษาของไทยนี้ มีแต่เรื่องเครียดครับ.
วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555
อาเซียนเสริมการศึกษา 3 ชายแดนใต้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น