TCELS ผุด Medicopolis เวชนคร เป็นเขตให้บริการสุขภาพกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน ยันไม่ซ้ำซ้อนกระทรวงสาธารณสุข และเมดิคอลฮับ แต่เชื่อมต่อบริการโดยใช้เทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยพัฒนา ลดการพึ่งพาเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ พร้อมผลักเป็นนโยบายหลักของชาติในอนาคต มั่นใจขยายโครงการได้ 20 แห่งใน 3 ปี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ผุดแนวคิดการตั้งเขตพัฒนาและบริการสุขภาพแนวใหม่ของประเทศไทย Medicopolis หรือเวชนคร ขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศด้วย นายกำจร พลางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ที่ปรึกษา TCELS เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ด้วยมองเห็นว่า การบริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพของคนไทยจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่ต้องพึ่งพายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ความพยายามในการวิจัยและผลิต ปัจจัยหลักเหล่านี้โดยนักวิจัยและนักอุตสาหกรรมไทย จึงยังประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย TCELS มีหน้าที่หาทางแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่พบในการนำผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์สู่การผลิตและการใช้ประโยชน์ในบริการสุขภาพของชาติ Medicopolis คือคำตอบในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ศาสตราจารย์มนตรี กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว มีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ 1. เป็นเขตให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีประสิทธิภาพ 2. สร้างเศรษฐกิจบริการสุขภาพ และ 3. บูรณาการการวิจัยและพัฒนายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์กับการใช้ในการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งสามประการจึงได้กำหนดประเภทของการดำเนินการไว้ 3 กลุ่มที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการ คือ 1. กลุ่ม Platinum สำหรับผู้สูงอายุเพื่อให้บริการสุขภาพแก่ประชากรวัยทองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2. กลุ่ม Superstar เพื่อสนองความนิยมของชนรุ่นใหม่ที่รักสวยรักงาม และกลุ่มที่ 3 คือ Wellness เพื่อส่งเสริมให้เกิดชุมชนที่มีสุขภาพดีสามารถประกอบอาชีพได้เต็มที่และยังดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งนี้ Medicopolis แต่ละประเภทอาจมุ่งการให้บริการแก่คนไทยหรือชาวต่างชาติที่มาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกับ Medical Hub และการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นการเอื้อการทำงานกันและกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ
ศาสตราจารย์มนตรี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ จัดระบบการวิจัยและพัฒนายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือที่เน้นความเชื่อมโยงกับการใช้ในการให้บริการสุขภาพแก่กลุ่มเป้าหมายใน Medicopolis แต่ละประเภทที่กล่าวไว้ข้างต้น ระบบการวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องเน้นการทดสอบทางคลินิก การพัฒนาการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การผลิตระดับอุตสาหกรรมและโรงงานต้นแบบ โดยนำผลการวิจัยและภูมิปัญญาไทยและวิทยาการจากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์และสร้างนวัตกรรมต่อยอดให้เหมาะสมกับการบริการสุขภาพแก่กลุ่มเป้าหมายใน Medicopolis แต่ละประเภท
ศาสตราจารย์มนตรี กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานนั้น ในปีแรกจะเน้นการรณรงค์สร้างเครือข่าย สำรวจพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ จัดทำรายการเวชภัณฑ์ซึ่งหมายถึง ยา วัคซีน เครื่อง มือแพทย์และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องที่ต้องการลดการนำเข้า และการวิจัยและอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตได้ จากนั้นในปีที่ 2 จะเสนอมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่น การให้สิทธิ ประโยชน์ ทุนสนับสนุนและการร่วมมือกับต่างประเทศ ก่อนที่จะจัดตั้งและดำเนินการ Medicopolis หรือ เวชนครอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำร่องโครงการไม่น้อยกว่า 3 แห่ง และในปีที่ 3 จะทำการประเมินโครงการปรับรูปแบบแผนงานตลอดจนมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ และจัดตั้งโครงการเพิ่มให้ได้ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง อย่างแน่นอน
“Medicopolis หรือ เวชนคร แตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เนื่องจากจะเป็นเขตพื้นที่ที่ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้องค์ความรู้และวิทยาการด้านชีววิทยาศาสตร์ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับสากล Medicopolis หรือ เวชนครจะใช้ประโยชน์จากผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยในหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยอื่นๆ โดยแนวคิดดังกล่าวนี้สามารถผลักดันเป็นนโยบายของประเทศได้ โดยเริ่มจากในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ” ศาสตราจารย์มนตรี กล่าว
www.newswit.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น