วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากเท็มโก้ 2518 ถึงปิโตรเลียม 2555-ประสาท มีแต้ม

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อนโดย...ประสาท มีแต้ม ผมเชื่อว่าท่านที่อายุเกิน 50 ปีส่วนใหญ่คงจะจำเหตุการณ์สำคัญเมื่อปี 2518 ได้ดี เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นผลพวงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นำโดยนิสิต นักศึกษา เพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการที่สืบทอดมานานกว่าสิบปี นอกจากฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยที่เห็นชัดเจนถึงการสูญเสียอธิปไตยของชาติที่เกิดจากการสมคบคิดกันระหว่างผู้นำเผด็จการของไทยกับจักรวรรดินิยมอเมริกาแล้ว ยังมีอีกรูปธรรมหนึ่งของการปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือ การให้สัมปทานบัตรแก่บริษัทต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเลบริษัทต่างชาติที่ว่านี้คือ บริษัท เท็มโก้ (TEMCO-Thailand Exploration Mining Company) ซึ่งกลุ่มผู้นำเผด็จการและครอบครัวของไทยถือหุ้นลมอยู่ด้วย วิธีการคบคิดดังกล่าวถือเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของการอนุญาตให้ทุนต่างชาติเข้ามาขุดทรัพยากรของชาติออกไป ผมไม่แน่ใจว่านอกเหนือจากเหตุผลหลักของการเรียกร้องให้ถอนสัมปทานบัตรดังกล่าวซึ่งก็คือผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐหรือประชาชนได้รับเพียงน้อยนิดแล้วจะมีอย่างอื่นอีกหรือไม่ แต่ผมจำได้ว่าผมเองก็ได้เข้าร่วมชุมนุมคัดค้านด้วยหลายครั้ง กระแสการคัดค้านได้ขยายวงออกไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ดร.ธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้เสนอให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่มีอายุเพียงเดือนเดียวต้องถอนสัมปทานบัตรในต้นปี 2518 สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในตอนนี้ก็คือ ภายใต้กระแสรักชาติรักประชาธิปไตยและรักเอกราชของประชาชน ได้ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องยอมรับฟังเสียงของประชาชนและถอนสัมปทานบัตรที่ให้ต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรมก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องปิโตรเลียม ผมขอเล่าเรื่องการขุดดีบุกต่ออีกเล็กน้อย หลังจากการถอนสัมปทานบัตรของบริษัทต่างชาติแล้วได้มีเอกชนรายเล็กรายน้อยของไทยเข้าไปดูดแร่กันเป็นจำนวนมาก ประมาณปี 2522 ผมเองได้มีโอกาสไปทำสารคดีเพื่อลงในวารสารรูสะมิแล ฉบับ “แลใต้” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในตอนนั้นประเทศไทยเราส่งดีบุกออกมากเป็นอันดับสองของโลก แต่ที่น่าเสียใจก็คือว่า ในการขุดแร่ดังกล่าวได้มี แร่แทนทาลัม ซึ่งเป็นแร่ที่มีความแข็ง ทนทาน และมีราคาแพงมากติดไปด้วย แร่นี้ใช้เป็นส่วนประกอบของหัวจรวด แต่คนไทยไม่รู้เรื่อง เราได้ขายให้ต่างชาติในราคาราวกับเศษดิน (ที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า “ขี้ตะกรัน”) กว่าที่เราจะรู้ก็ได้ขายไปเกือบหมดแล้ว จากข้อมูลที่ผมค้นได้พบว่า จากปี 2450-2541 เราได้ส่งดีบุกออกรวมกัน 1.5 ล้านตัน โดยที่ในปี 2523 ส่งออกถึง 34,700 ตันแร่ เราอาจจะไม่รู้ว่าดีบุกจำนวนนี้มันมากน้อยขนาดไหน แต่ข้อมูลต่อไปนี้จะตอบคำถามนี้ได้ ปัจจุบันนี้ปี 2555 ทั่วทั้งโลกมีการใช้ดีบุกเพียงปีละ 3.2 แสนตันเท่านั้น ดังนั้นถ้าแหล่งดีบุกของไทยยังอยู่ แร่ดีบุกของไทยสามารถป้อนให้คนทั้งโลกใช้ได้นานถึง 5 ปี มันยิ่งใหญ่ขนาดไหนประเทศไทยเรา ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกดีบุกเพียงประมาณปีละ 28 ตันเท่านั้น ในราคาตันละ 10,000 เหรียญสหรัฐ (หรือกิโลกรัมละ 310 บาท) ถ้าผมจำไม่ผิดราคาดีบุกในปี 2522 ต่ำกว่านี้นับสิบเท่าตัว สำหรับแร่แทนทาลัมที่เราขายไปโดยไม่รู้ตัวนั้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ $100- 500 ต่อกิโลกรัม น่าเสียดายไหม? มาถึงเรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2555 แต่สังคมไทยไม่ค่อยได้รับรู้กันมากนัก คือ การให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมครั้งใหม่ซึ่งเป็นครั้งที่ 21 นับจากครั้งแรกเมื่อปี 2514 จำนวน 22 แปลง โดยที่ 17 แปลงอยู่บนบก พื้นที่รวม 42,599 ตารางกิโลเมตร (หรือ 27 ล้านไร่ ประมาณ 8% ของพื้นที่บนบกทั้งหมด) ที่เหลืออยู่ในทะเล 5 แปลง บนพื้นที่ 3,395 ตารางกิโลเมตร ถ้าเรานำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับกรณีการถอนสัมปทานบัตรบริษัทเท็มโก้เมื่อปี 2518 เรามี 3 ประเด็นที่จะต้องพิจารณา คือหนึ่ง ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับมีความเป็นธรรมหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่าไม่เป็นธรรม เพราะประเทศชาติได้รับเพียง 29% เท่านั้น ที่เหลือก้อนใหญ่ 71% บริษัทที่รับสำรวจและขุดเจาะได้รับไป การที่ผมสรุปอย่างนี้อยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถค้นได้จากเว็บไซต์ เช่น รัสเซีย และปากีสถานรัฐบาลได้ประมาณ 70% (จาก http://globalimpactconsulting.com/14/10/1/hot_markets/brazil/oil_and_gas.html) นอกจากนี้ จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน หรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็ได้ปรับปรุงกติกาเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ที่รัฐได้รับมากขึ้นเป็นลำดับ แต่รัฐบาลของไทยเราได้มีการปรับปรุงเพียงครั้งเดียว แต่แทนที่จะได้ผลประโยชน์เพิ่มกลับลดลงเล็กน้อย(จากการปรับอัตราเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได)สอง ขณะนี้ได้มีกระแสเรียกร้องต่อรัฐบาลที่อ้างว่าเกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยให้ทบทวนการให้สัมปทานบัตรครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมาก็มีการเสวนาและถ่ายทอดสดผ่าน FMTV (ของกลุ่มสันติอโศก) มีการรณรงค์และยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี แต่คำถามก็คือ ทำไมไม่เกิดเป็นกระแสสังคม คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้ากว่าปี 2518 เยอะเลย ขณะเดียวกัน “ทุนทางกระบวนการประชาธิปไตย” ก็สูงกว่าในอดีตมาก ในเรื่องนี้ผมขอเรียนว่าเพราะสื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมดต่างได้รับเงินค่าโฆษณาก้อนโตมากๆ จากบริษัทปิโตรเลียม มันจะมีประโยชน์อะไรหรือครับที่เราเรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตยทางการปกครอง แต่เราเป็นเผด็จการในเรื่องนโยบายพลังงานที่มีขนาดใหญ่เกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ประชาชาติ

manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม