วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทเรียนไทย ในวิกฤษยูโร

สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ได้ก่อให้เกิดความกังวลบางประการที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสวัสดิการของประเทศในกลุ่มนี้ในสองด้าน

ความกังวลด้านแรก คือ ผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะที่มีต่อความมั่นคงของระบบรัฐสวัสดิการของประเทศที่เกิดวิกฤต อันเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง ส่งผลทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือจากรัฐในกรณีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ประเทศที่เกิดวิกฤตจึงมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณในระดับสูง
ในภาวะที่ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงอยู่แล้ว ทำให้การกู้ยืมเงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลมีต้นทุนสูงหรือไม่มีใครกล้าให้กู้เพราะประเทศมีระดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลของประเทศที่เกิดวิกฤตจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกอียูเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากสถานะประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเงินกู้ดังกล่าวย่อมมาพร้อมกับเงื่อนไขการตัดลดงบประมาณเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประเทศเจ้าหนี้ว่า ประเทศที่กู้ยืมเงินจะสามารถชำระหนี้คืนได้
จากรายงานความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยุโรป โดยทำการวิเคราะห์งบประมาณของประเทศสมาชิกอียูในปี 2010 โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2006 ระบุว่า ประเทศสมาชิกอียูที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว มีจำนวน 12 ประเทศ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2006 ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น

ความกังวลในอีกด้านหนึ่ง คือ ระบบรัฐสวัสดิการที่มากเกินไปของประเทศสมาชิกยูโร อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางสังคมของรัฐบาลที่ค่อนข้างสูง ทำให้ระบบการคลังของภาครัฐขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองกับวิกฤตการณ์

นอกจากนี้ การที่ประชาชนเคยชินกับการได้รับสวัสดิการและโปรแกรมการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาจทำให้ขาดความพร้อมในการปรับตัวรับกับวิกฤตการณ์ และรัฐบาลไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศ ดังที่เกิดการประท้วงคัดค้านการปรับลดงบประมาณด้านสวัสดิการของภาครัฐในประเทศที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ

จากสถานการณ์ความกังวลเกี่ยวกับระบบสวัสดิการของสมาชิกสหภาพยุโรป คำถามคือ ประเทศไทยได้บทเรียนอะไรจากวิกฤตระบบสวัสดิการของยุโรป และการออกแบบระบบสวัสดิการของประเทศไทยในอนาคตควรเป็นไปในทิศทางใด จึงจะมีความเพียงพอที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการทางสังคมของประชาชนได้

สถานการณ์ของไทยในปัจจุบันมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้เราต้องหันมาพิจารณาเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาระบบสวัสดิการของประเทศสำหรับรองรับความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้มีสัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงต่อประชากรในวัยแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องจัดงบประมาณในการดูแลประชาชนวัยพึ่งพิงสูงขึ้น เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน

อีกความเสี่ยงหนึ่ง คือ การเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาตามแบบอย่างของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานและทรัพยากร ซึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และกระแสการลงทุนจะไหลไปสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้มากขึ้น ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ การว่างงานของแรงงานไร้ฝีมือมีมากขึ้น หากไม่มีการยกระดับฝีมือแรงงานอย่างจริงจัง และแรงงานส่วนนี้จะกลายเป็นภาระของรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแล

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา การพัฒนาระบบสวัสดิการของประเทศยังต้องเผชิญความท้าทายบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบสวัสดิการให้มีคุณภาพและทั่วถึง โดยไม่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน เพราะการจัดสรรงบประมาณสำหรับระบบสวัสดิการที่สูงมาก ทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ความท้าทายประการต่อมา คือ รัฐบาลจะแสวงหารายได้จากแหล่งใดมาเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนซึ่งมีความต้องการมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนประชากรที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษียังมีค่อนข้างต่ำ ฐานภาษียังค่อนข้างแคบ และช่องทางการสร้างรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง อันเนื่องจากการเปิดเสรี ซึ่งทำให้อัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ และรัฐบาลยังมีนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

และความท้าทายประการสุดท้าย คือ ทำอย่างไรที่ระบบสวัสดิการของประเทศจะมีความยั่งยืน และมีความยืดหยุ่นในยามที่ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่ระบบยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้รัฐบาลจะมีปัญหาวิกฤตงบประมาณ เพื่อประเทศไทยจะไม่เดินซ้ำรอยของประเทศสมาชิกยูโรที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบสวัสดิการของประเทศ ผมจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไปครับ



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม