วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยูโรป่วน อุสหกรรมสิ่งทอ ติดลบแล้ว 9.2%

ฐานการวิเคราะห์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ประเมินว่าวิกฤติในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรป กำลังจะเป็นปัจจัยลบไม่มากก็น้อยที่มีผลมาต่อภาคการส่งออกของไทย โดยสาขาของอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบประกอบด้วย อัญมณี, อาหาร, สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม โดยสัญญาณที่สะท้อนกลับมาในระบบเศรษฐกิจในขณะนี้นั่นก็คือ การชะลอคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้า โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอมียอดส่งออกติดลบแล้ว 9.2% ในครึ่งปีแรก และมีโอกาสที่จะไต่ไปถึง 15% เมื่อถึงปลายปี

ที่มาของการถดถอยดังกล่าว เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปทั้งสิ้น เนื่องจากหลังเกิดปัญหาในยุโรปทำให้ประเทศคู่สัญญาเหล่านี้ หันไปซื้อสินค้าที่ถูกลงทั้งจากเวียดนาม, กัมพูชา, จีน, บังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งของไทยอยู่แล้ว ในขณะที่ข้อจำกัดของไทยก็คือต้นทุนการผลิตสินค้าสูงกว่าผู้ผลิตในภูมิภาค โดยมีแรงสนับสนุนมาจากค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม ส่วนการตั้งรับของรัฐบาลต่อวิเศรษฐกิจยุโรปนั่นก็คือ

การให้ความสำคัญรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภาพรวมให้เข้มแข็ง ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดยุโรป จัดอบรมเพิ่มทักษะและพัฒนาฝีมือแรงงานให้นักศึกษาจบใหม่ ดูแลอุตสาหกรรมรายกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 แสนล้านบาท และตั้งวงเงินค้ำประกันการส่งออกอีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการส่งออกไปยุโรป

กล่าวสำหรับความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการต่อการที่จะรักษาโอกาสทางธุรกิจของตนเองก็คือ การพากันย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยขณะนี้พบว่ามีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจากผู้ประกอบการรวม 15 ราย ที่มีบทบาทในการเป็นผู้รับจ้างผลิตชุดกีฬาในระดับสากล ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ในปี 2556 ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปิดตัวลง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาคการขนส่ง

"วิกฤติเศรษฐกิจยูโรที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบมาถึงคำสั่งซื้อสินค้าพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าในไตรมาส 2-3 การส่งออกของบริษัทจะปรับตัวลดลงเฉลี่ย 10-15%" อดิศักดิ์ อังศรีประเสริฐ กรรมการบริหารฝ่ายผลิต บริษัทเอ็นเค แอพพาเรล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวและว่า บริษัทเอ็นเค แอพพาเรล ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากลูกค้าหลักของบริษัทคือยุโรปมีสัดส่วนสูงถึง 50% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 45% และที่เหลือเป็นประเทศในเอเชียคือจีนและญี่ปุ่น

"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยุโรปในขณะนี้ ลูกค้ามองว่ากระทบยาวแน่นอน และจากการประเมินผ่านข้อมูลข่าวสารน่าจะกระทบในระยะที่ยาวนานเช่นกัน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการขายลดลง โดยก่อนหน้ามีการตั้งเป้ายอดขายในปี 2015 ไว้จำนวน 400 ล้านชิ้น ต้องตัดลดลงเหลือ 300 ล้านชิ้น ลดลงกว่า 25%สำหรับโรงงานของบริษัทที่มี 7 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก นอกจากจะเผชิญผลกระทบเศรษฐกิจยุโรปแล้ว ยังได้รับผลกระทบต้นทุนจากค่าแรงที่ปรับขึ้นอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้สามารถคงการผลิตได้ตามยอดการสั่งซื้อ ก็คงต้องเร่งขยายตลาดเพิ่มขึ้น" อดิศักดิ์ กล่าว

"รัฐบาลต้องไม่วางใจ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติที่อาจจะคุมไม่อยู่ เชื่อว่าปีหน้าหนักแน่นอน แม้ว่าผู้ส่งออกจะตั้งรับอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลไม่รีบเตรียมตัวรับมือ หาทางป้องกัน โอกาสที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ก็คงไม่สามารถเลี่ยงได้ ซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะขณะนี้ตัวเลขหนี้ที่รัฐบาลไปกู้มาเพื่อใช้กับโครงการประชานิยมสูงมากถึงหลัก 2 ล้านล้านแล้ว ถ้าวิกฤติขยายประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น" วิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าว

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ช.ทวีดอลลาเซียน จำกัด ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า วิกฤติยุโรปในระยะนี้ยังไม่กระทบต่อธุรกิจส่งออกโลจิสติกส์ของบริษัท แต่ก็ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะค่าเงิน

"บริษัทไม่ได้ส่งสินค้าไปยุโรปโดยตรง แต่ลูกค้าสำคัญอยู่ที่ตะวันออกกลาง ซึ่งก็วางใจไม่ได้ทีเดียวต้องดูการแก้ปัญหาอีกระยะหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็จะส่งผลต่อประเทศในกลุ่มลูกค้า เพราะความเชื่อมโยงกันในระบบเศรษฐกิจ" สุรเดช กล่าว

"ผลกระทบจากวิกฤติยูโรในระยะนี้กระทบบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก ยอดออเดอร์สินค้าเกษตรประเภทไก่สด อาหารสัตว์ ลดลงเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีออเดอร์ระยะยาวทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนังรองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ในระยะ 3-4 เดือน ยังคงส่งได้ปกติ แต่ออเดอร์ลอตต่อไปทราบว่าลดลงแล้ว" อธิคม ตันติวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความเห็น

เศรษฐกิจไทยในรอบปี 2554 เผชิญมรสุมที่รุนแรงจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค จนทำให้ฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับการถดถอย เนื่องจากไม่สามารถคืนการผลิตให้กลับเข้าสู่ระบบได้ตามปกติ การขยายตัวของตัวเลขในระบบเศรษฐกิจซึ่งอยู่ที่ 0.3% ในไตรมาสแรก สวนทางกับการคาดหวังให้เกิดการขยายตัวที่ 2% โดยกระทรวงการคลัง เมื่อเผชิญเข้ากับปัจจัยลบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ย่อมเป็นสัญญาณเตือนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

 


www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม