สถานการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในปี 2468 นั้น ไม่ได้ราบเรียบนัก โลกเองก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นประชาธิปไตย ในประเทศไทยเองเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยหนาหูขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ กบฏ ร.ศ.130 เช่น “นายภักดี นายไทย” ถวายฎีกาขอให้ทรงตั้งกฎหมายคอนสติตูชั่น เมื่อ 5 ธันวาคม 2468 ข้อเขียนของหนังสือพิมพ์สยามรีวิว วิจารณ์รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนิ่งดูดายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงขนาดยกเรื่องราวการปฏิวัติรัสเซียขึ้นอ้างและยุให้ใช้ “กำลังและความรุนแรง” สัญญาณเหล่านี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องเตรียมการ การเตรียมการนั้นทรงกระทำ 2 ทาง ทางแรก ทรงตั้งสถาบันต่าง ๆ อันจะเป็นการปูพื้นฐานให้ประชาธิปไตย เช่น ทรงตั้งสภากรรมการองคมนตรี เพื่อให้ทดลองอภิปรายปัญหาสำคัญกันเหมือนในรัฐสภา และมีพระราชดำริให้จัดทำกฎหมายเทศบาลเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนระดับล่างมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น อันเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยจากเบื้องล่างขึ้นไปสู่เบื้องบน ทางที่สอง ได้มีพระบรมราชโองการให้มีการศึกษาเตรียมการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ทรงให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ศึกษาระบบการเมืองที่ฮอลันดา นำเข้ามาจัดให้ชวาซึ่งเป็นอาณานิคม และเมื่อเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรในปี 2473 ก็พระราชทานสัมภาษณ์ว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ชาวสยามเมื่อเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อเสด็จกลับถึงสยามก็โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัยเตรียมร่างรัฐธรรมนูญถวาย ซึ่งเจ้านายพระองค์นี้ก็ขอให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรย์มอนด์ บี.สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจบการศึกษากฎหมายจากฮาร์วาร์ดร่วมกันยกร่างถวายในปี 2474 ที่เรียกกันว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ในภายหลังผู้ร่าง 2 คนยกร่างเป็นภาษาอังกฤษและใช้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of the Government”ซึ่งแปลว่าเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐบาล ลงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1932 ในเค้าโครงนี้ ไม่ได้ยกร่างเป็นบทบัญญัติรายมาตรา แต่เป็นการพรรณนาหลักการสำคัญ ๆ ในส่วนแรกสุดของร่าง ได้สรุปย่อสาระสำคัญไว้ว่า “โดยทั่วไป แผนนี้เป็นการเริ่มต้นใช้รูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภา ในทางทฤษฎี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นประมุขฝ่ายบริหารและทรงตรากฎหมาย อย่างไรก็ตามในฐานะประมุขฝ่ายบริหารจะทรงบริหารราชการแผ่นดินผ่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามแผนนี้จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจกำกับบางประการของสภานิติบัญญัติ ในฐานะผู้ทรงตรากฎหมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกระทำการดังกล่าวด้วยความช่วยเหลือของสภานิติบัญญัติ (Legislative Council) ซึ่งมีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญ.... รัฐบาลภายใต้ข้อเสนอนี้ประกอบด้วย (ก) พระมหากษัตริย์ (ข) คณะอภิรัฐมนตรี (Supreme Council) (ค) นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ง) สภานิติบัญญัติ (Legislative Council)” ว่ากันอันที่จริงเค้าโครงการปกครองที่พระยาศรีวิสารวาจา และนายสตีเวนส์ กราบบังคมทูลเสนอนั้น ยังไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy) แต่เป็นการปกครอง กึ่งราชาธิปไตยกึ่งประชาธิปไตย ที่เรียกว่า ปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) เพราะพระมหากษัตริย์ยังมีพระราชอำนาจสูงสุดทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติ เพียงแต่มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงแต่งตั้งมาบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้การกำกับของสภานิติบัญญัติ ซึ่งจะควบคุมรัฐบาลโดยการตั้งกระทู้ถาม และลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ แต่พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือไม่ก็ได้ นอกจากอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารแล้ว สภานิติบัญญัติยังมีอำนาจสำคัญอีก 2 ประการคือ ประการแรก การพิจารณากฎหมายซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาเอง หรือเสนอโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบสนธิสัญญา แต่เมื่อสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบร่างกฎหมายนั้น หากพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งโดยพระราชทานเหตุผลเป็นทางการไปยังสภา ร่างกฎหมายนั้นก็จะตกไป นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระราชอำนาจตรากฎหมายได้เองหากเป็นการฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วน หรือมีความจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ประการที่สอง การพิจารณาให้ความเห็นชอบแก่งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่สภาขัดแย้งกับคณะรัฐมนตรีในร่างกฎหมายงบประมาณ พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชวินิจฉัยซึ่งจะถือเป็นที่สุด สำหรับองค์ประกอบของสภานั้น ร่างนี้เสนอว่าควรประกอบด้วยสมาชิก 50-75 คน โดยมีสมาชิกทั้งที่ทรงแต่งตั้ง และมาจากการเลือกตั้งเท่ากัน โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง สมาชิกที่มาจากการทรงแต่งตั้งต้องไม่ใช่ข้าราชการอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง สำหรับการเลือกตั้งนั้น ร่างนี้เสนอให้ใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อม 2 ชั้น คือ ประชาชนเลือกคณะผู้เลือกตั้งไประดับมณฑล และคณะผู้เลือกตั้ง (electors) ก็จะเลือกผู้แทนราษฎรของมณฑลตามสัดส่วนจำนวนประชากร สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทยและเสียภาษี ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 30 ปีขึ้นไป อ่านออก เขียนได้ ต้องเสียภาษี และต้องไม่เป็นข้าราชการ สมาชิกสภามีวาระ 4-5 ปี แต่ทรงยุบสภาได้ ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้นจะทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้กราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยมีวาระเท่าสมาชิกสภานิติบัญญัติ สำหรับคณะอภิรัฐมนตรีนั้น ร่างนี้ก็เสนอให้คงไว้ เพื่อถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ แต่อภิรัฐมนตรีจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไม่ได้ ทั้งไม่อาจเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย เมื่อยกร่างเสร็จ ทั้งนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจาก็ถวายความเห็นว่าสยามยังไม่ถึงเวลาที่จะมีรัฐสภา!.
www.dailynews.co.th
วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ประชาธิปไตยอันมีกษัตรฺย์เป็นประมุข
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น