วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทีโออาร์ โปร่งใส ยิ่งลักษณ์ ยืนยัน

12 ก.ค.55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าและเยี่ยมชมจุดให้ข้อมูล แจกเอกสารการลงทะเบียนสำหรับการประมูลโครงการตามกรอบแนวคิดเพื่อการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เปิดให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ารับเอกสารการประมูลหรือทีโออาร์ ไปตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รายงานความคืบหน้า โดยกล่าวว่า เอกสารการทำทีโออาร์ และโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมดไม่มีการปิดบัง หากสื่อมวลชน ฝ่ายค้าน รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการทราบข้อมูลรายละเอียด สามารถมาลงทะเบียนเพื่อขอรับสำเนาเอกสารได้

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า การทำทีโออาร์โครงการป้องกันน้ำท่วมเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ได้มีการปิดบังเหมือนอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา โดยรัฐบาลได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้ามาร่วมเสนอทีโออาร์ เนื่องจากเราต้องการใช้งบอย่างโปร่งใสมากที่สุด และอยากได้ระบบการบริหารจัดการน้ำที่มองแบบภาพรวมทั้งหมด ถ้าเราใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว ก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับการบูรณาการอย่างยั่งยืนในระยะยาว เราต้องการคนที่มีความรู้มามองในภาพรวมให้ด้วย เพื่อเชื่อมลุ่มน้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ และดูวิธีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมถึงแนะนำ เสนอโครงสร้างของการวางแนวเขื่อน ลุ่มน้ำ ฟลัดเวย์ และการทำแก้มลิงต่างๆ ซึ่งบริษัทที่ได้เสนอทีโออาร์จะต้องไปดูทั้งสิ่งที่เรามีอยู่เดิม และเสนอใหม่ แต่สาระสำคัญคือเราจะยึดตามแนวพระราชดำริ คือต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และต้องทำตามแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ได้นำเสนอต่อประชาชนไว้

“ขอให้สื่อมวลชนเข้ามาดูและตรวจสอบได้เลย เพราะนี่เป็นงานของประเทศที่ทุกคนควรจะได้มีส่วนรับรู้ และแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งรายละเอียดของโครงการทั้งหมดเรามีชัดเจนแล้ว แต่ที่เปิดให้ทำทีโออาร์เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่ดีขึ้นในการเชื่อมต่อทั้ง 25 ลุ่มน้ำเข้าด้วยกัน นี่คือจุดสำคัญที่เราหวังไว้ และหลังจากนี้ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมาจากหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เช่นกรมชลประทาน สภาพัฒน์ฯ เข้ามาตรวจสอบ ยืนยันว่าโครงการนี้โปร่งใสแน่นอน พร้อมให้ข้อมูล และสามารถชี้แจงกับสื่อมวลชนได้ทุกขั้นตอน รวมทั้งยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ด้วย” นายกฯ กล่าว

'นายกฯ'วอนทุกฝ่ายฟังคำวินิจฉัยศาล-เชื่อไร้ปัญหา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดกับมาตรา 68 หรือไม่ในวันที่ 13 กรกฎาคมว่า อยากให้เราฟังคำวินิจฉัยด้วยความสงบ และมีสมาธิไม่อยากให้พี่น้องประชาชนกังวลมากเกินไป ก็คงต้องรอฟังผลก่อน เพราะว่าการกังวลแล้วอาจจะทำให้เกิดความความกังวลใจซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้น เรารอฟังผลก่อนดีกว่า ตนอยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มองว่าเลข 13 เป็นเลขไม่ดี จริงๆแล้วตัวเลข 13 นี้เป็นตัวเลขที่โชคดีสำหรับหลายคนก็มี

ผู้สื่อข่าวถามว่าถือว่าเป็นวันดีของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่ขอบอกดีมั้ยค่ะ อันนี้เราก็ขอทำหน้าที่ของเรา" เมื่อถามว่าจากการที่แกนนำพรรคเพื่อไทยมีการออกมากล่าวเชิงปลุกระดมมวลชน หากมีคำตัดสินออกมาในทางที่สวนกระแสกับด้านของตัวเองนั้น จะเป็นการทำให้ประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งอย่างเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างที่เรียนว่าไม่อยากให้กังวลเกินไปอันนี้ต้องขอทุกส่วนว่าเราน่าจะรอผลก่อน แล้วก็ค่อยๆพูด ค่อยๆจา พูดคุยกัน เพราะเชื่อว่าคนไทยด้วยกันคุยกันได้

เมื่อถามว่าจะมีการห้ามปรามคนในพรรคในการออกมาพูดปลุกระดม หรือกดดันหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือไปยังทุกส่วนในการพูดคุยกัน การแสดงความคิดเห็นได้แต่ให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แล้วก็อย่าใช้ความรุนแรง เมื่อถามถึงกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช. เปิดเผยว่ามีขบวนการล้มล้างรัฐบาลโดยเป็นการระดมทุนมาที่ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กรกฎาคมนั้น นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามพร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวออกไปทันที

สั่ง'ยงยุทธ'ประสานผู้ว่าฯ กำจัดผักตบฯในพื้นที่กีดขวางทางน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมการติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ว่า ได้ติดตามเรื่องการทำงานซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมงานในเรื่องการจัดวิธีการทำงาน หรือโครงสร้างการทำงานของ ศูนย์บริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ หรือ ซิงเกิล คอมมานด์ (Single Command Center) ในการที่จะปรับตัวเป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า เพื่อที่จะประสานไปยังทุกจังหวัด และประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าเรื่องความรับผิดชอบและขอบข่ายหน้าที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการวางระดับการเตือนภัย เช่น ตัวอย่างการเตือนภัยระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ แต่ว่าจะทำอย่างไรให้รู้ว่าความเสียหายหรือภัยพิบัติต่าๆ จะต้องยกระดับเตือนภัยเมื่อไหร่ และก็มีการประสานเชื่อมกับส่วนกลางซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุยกันในเนื้อหา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งก็คือส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่มีปลายอุโมงค์รับน้ำ ซึ่งมีโครงการพระราชดำริ แก้มลิงคลองมหาชัย-สนามไชย นั้น จะทำอย่างไรให้น้ำไหลลงไปได้ เพราะพื้นที่ส่วนตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่ม แต่น้ำไม่ระบายไปทั้งหมด ซึ่งตนได้ฝากให้คณะอนุกรรมการระบายน้ำ กับทาง กทม. ที่จะหารือกันเพื่อหาแนวทางระบายน้ำ เร่งรัดการระบายน้ำ ทั้งส่วนของฝั่งตะวันออกและตะวันตก และส่วนสุดท้าย ได้หารือกันในเรื่องการขุดลอกคูคลองและลอกท่อไปแล้ว ก็จะพบปัญหาประจำวันทุกวัน แม้ว่าจะมีการลอกคูคลองใหญ่แล้ว ก็จะเห็นว่าจะมีผักตบชวาต่างๆ ลอยมา ซึ่งมีทั้งต้นไม้และสิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายและเร็ว

อีกทั้งอาจจะมีปัญหาประชาชนทิ้งขยะทำให้ปัญหาการอุดตุนจะกลับมาอีก ซึ่งตนได้สั่งการให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ในการใช้พื้นที่ใกล้เคียงว่า ใครที่อยู่ใกล้พื้นที่ไหนให้หามาตรการดูแล ซ่อมแซม ในเรื่องการทำความสะอาดบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือการพยากรณ์ในเชิงซิมมูเลชั่น ของซอฟแวร์ เพื่อดูว่ายังมีปัญหาส่วนใดอีกในเรื่องการระบายน้ำที่ยังไม่เชื่อมต่อกันก็สั่งการเพิ่มเติมเล็กน้อย

เมื่อถามว่ายังมีจุดไหนที่นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพของคูคลองรับน้ำได้มากกว่านี้ เพราะอย่างที่บอกว่าการระบายน้ำพื้นที่ตอนปลาย และยังมีเรื่องคูคลองที่แคบเกินกว่าในอดีต หรือเรื่องพื้นที่งอก หรือการที่ประชาชนที่อยู่ริมคลองต่างๆก็อาจจะทำให้การระบายน้ำไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคงต้องหารือกัน แต่คงทำได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวคงต้องคุยกัน อย่างคลองที่มีลักษณะคล้ายกับฝั่งตะวันตก หรือคล้ายลักษณะคลองลัดโพธิ์ ซึ่งอนาคต ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้น้ำระบายออกไปได้เร็ว

กทม.จี้รัฐจ่ายเงินช่วยน้ำท่วม2หมื่นบาททุกราย

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกทม. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เรื่องการพิจารณาให้ความช่วยเหลือกรณีประชาชนกรณีร้องเรียนถึงการเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง 5 รายการ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาเพิ่มเติมเป็น 20,000 บาททุกราย ในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งหมด 36 เขต จำนวน 118,733 ราย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับจังหวัดอื่นๆ โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 400 ล้านบาท จากเดิมที่มีการอนุมัติไปงบประมาณ 2 พันล้านบาทเพื่อจ่ายเงินช่วยน้ำท่วม 5 รายการไปก่อนหน้านี้ใน 36 เขตดังกล่าว



www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม