วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจักต้องจารึกถึง ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นความเห็นที่แตกต่าง เกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ออกมาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีรังสีความรุนแรงทางการเมืองและบรรยากาศของความไม่พึงพอใจของกลุ่มการเมืองต่างๆ ส่งสัญญาณบอกเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว จนถึงศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระ 3 และกระทั่งมีการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แม้ทุกฝ่ายจะมีการออกตัวว่า พร้อมเคารพในคำวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะร้องขอให้ทุกคนรอฟังคำชี้ขาดจากศาล แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับตรงกันข้าม เห็นได้จากกระแสการทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 5 คน ในองค์คณะรวม 9 คน โดยเฉพาะตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่แถมพ่วงด้วยการข่มขู่สารพัด นอกจากนั้นยังมีการประกาศระดมคนเสื้อแดงมาชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ 13 รวมถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อของรองนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า หากศาลตัดสินว่าผิด บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย หรือล่าสุดการออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อศาลรัฐธรรมนูญของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ล้วนสะท้อนบอกค่อนข้างชัดเจนว่า ฝ่ายที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมสร้างอุบัติการณ์ หากผลของคดีนี้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เผือกร้อนระอุก้อนใหญ่ในมือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ท่าน คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา นายชัช ชลวร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ยกเว้นนายจรัญ ภักดีธนากุล ที่ได้ถอนตัวออกไปแล้วนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแต่ละประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางกรอบในการพิจารณานั้น จะต้องมีคำตอบที่สมเหตุสมผล สามารถอธิบายให้สังคมได้รู้และเข้าใจ เข้าถึง เพื่อการยอมรับอย่างแจ่มแจ้งตรงไปตรงมา หรือเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ซึ่งถือเป็นกฎ กติกา มารยาท ที่สังคมต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นการพิจารณาไว้ 4 ประเด็นคือ 1.อำนาจการฟ้องร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง 2.ปัญหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ 3.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และ 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม และวรรคท้าย อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบพรรคหรือไม่ ในแต่ละประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วางกรอบเพื่อการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดไว้นั้น ตามกระบวนการและขั้นตอนแล้ว ตุลาการทุกท่านจะต้องให้เหตุผล และถกประเด็นปัญหากันอย่างละเอียด ก่อนที่จะลงมติ รวมทั้งการต้องร่างคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่สังคมสามารถตรวจสอบได้ และแตกต่างจากขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ฉะนั้น ผลวินิจฉัยของคดีความดังกล่าวในวันศุกร์ 13 ไม่ว่าจะเป็นฝันหวานหรือฝันร้ายของฝ่ายใดก็ตาม จึงสมควรที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ หากไม่อยากเห็นประเทศชาติบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายตามคำกล่าวร้าย โจมตี ข่มขู่ และกดดันสารพัดต่างๆ นานา เป็นเรื่องที่ต้องประณามสำหรับกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพลังที่แนบสนิทชิดเชื้อเป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ที่มีความพยายามในการแสดงออกถึงอนารยะขัดขืน หากผลของคดีไม่เป็นไปตามความต้องการของตนเอง ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้และข้อเท็จจริงแล้ว ประจักษ์รู้อยู่แก่ใจตนเองว่า เบื้องหลังเบื้องลึกของการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 นั้น แม้มิได้มีเจตนาคิดล้มล้างรัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่มีวาระซ่อนเร้นเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประโยชน์ส่วนตนของคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร เป็นการเฉพาะเจาะจง ประเทศไทยจะหนีไม่พ้นฝันร้ายอย่างแน่นอน แม้หากศาลรัฐธรรมนูญพิเคราะห์ "ยกฟ้อง" หรือเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ยังไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ ตราบเท่าที่กลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าใจหลงผิดคิดว่า เสียงข้างมากคือผู้กำหนดประชาธิปไตย โดยไม่ต้องใส่ใจต่อเสียงข้างน้อยที่เป็นปวงชนชาวไทยและเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหมือนกัน ประเทศไทยจะมีโอกาสฝันหวานได้อย่างไรกันเล่า หากฝ่ายนิติบัญญัติในสภา และฝ่ายบริหารในทำเนียบรัฐบาล จิตสำนึกบกพร่องแยกแยะไม่ออกว่า ระบอบทักษิณ กับระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองที่ "สวนดุสิตโพล” นำออกมาเผยแพร่ระบุว่า ประชาชนส่วนหนึ่งถึง 46.88 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าถึงการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญจะจบลง แต่สังคมไทยยังคงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยก มุ่งแต่การเอาชนะคะคานกัน เห็นแก่ประโยชน์และพวกพ้อง นับเป็นคำตอบที่เห็นกันอยู่แล้ว เราไม่ขอชี้นำว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะยึดประชาชนเป็นใหญ่ แต่เราอยากจะชี้แนะว่า ศุกร์ 13 นี้ ประเทศไทยจะฝันร้ายหรือฝันหวาน คนไทยทุกคนต้องเป็นผู้กำหนด เริ่มจากการยอมรับและเคารพในกฎ กติกา มารยาท ตามระเบียบภายใต้บทบัญญัติกฎหมายที่กำหนดให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อกฎหมายระบุให้ความขัดแย้งในด้านเกี่ยวกับข้อกฎหมายเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด สมควรแล้วหรือที่จะบอกว่า ตุลาการไม่เป็นกลาง หากผลไม่ได้ดั่งใจ ขอจงคิดกันให้หนัก ตรองกันให้ดี.
www.thaipost.net
วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ศุกร์ 13 ประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น