วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วตท วิเคราะห์มุมมองผู้นำของไทย

วตท. 14 มองผู้นำที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 14 วิเคราะห์ถึงบทบาทผู้นำประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีปัญหารุมล้อมทั้งภายนอกจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก และปัญหาภายในประเทศที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาด้านการเมืองที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ทำให้หลายครั้งประเทศไทยพลาดโอกาสที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมอาเซียน แต่ศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศยังอ่อนแออย่างมาก วิกฤติของประเทศที่ผู้นำเผชิญอยู่ในขณะนี้ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วงใยมาก ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ด้านระหว่างประเทศที่เลวร้ายลงโดยที่ประชาชนยังไม่ได้รับรู้เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการค้าและการส่งออก ไม่สามารถส่งออกได้มากเหมือนในอดีต หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลง ความไม่แน่นอนต่าง ๆ มีมากขึ้นรวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศจะเข้าสู่วิกฤติรอบสองซึ่งอาจกระทบกระเทือนทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ ประเทศไทยยังจมอยู่กับปัญหาทั้งเก่าและใหม่ ปัญหาเก่าได้แก่ ปัญหาศักยภาพในการแข่งขันที่เสื่อมถอยลงเป็นลำดับมาเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษาที่ขาดคุณภาพและปรับตัวไม่เท่าทัน ปัญหาการส่งออกที่ต้องพึ่งพาการลดค่าเงินเพียงอย่างเดียว ปัญหาการปรับปรุงและคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง และปัญหาด้านศีลธรรมจรรยาของผู้คนในสังคม ในขณะที่ปัญหาใหม่คือปัญหาเรื่องความแตกแยกทางความคิดที่เกิดเมื่อช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในอดีต ความไม่มั่นคงทางการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซึ่งมีไม่มากไปกว่าการเปลี่ยนตัวบุคคล นักลงทุนไม่ต้องกังวลเท่าใดนัก แต่ในปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างระดับล่าง เกิดความคิดความอ่านที่แบ่งฝักฝ่าย มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ยกระดับเป็นปัญหาสังคมในวงกว้างแล้ว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่สามารถคาดหมายได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเกิดมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเทศไทยยังขาดการแก้ไขหรือการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ปัญหาเหล่านี้พัวพันอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่หมักหมมและเป็นแรงกดดันทำให้ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาผู้นำยังไม่มีการนำวิสัยทัศน์ที่ร่างอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาปฏิบัติอย่างจริงจัง และยังวุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวเดินไปได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งที่ผู้นำประเทศควรทำ นอกจากการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นโรคระบาดไปทุกหย่อมหญ้าทั่วสังคมไทยอย่างเร่งด่วนและจริงจังกว่าที่ผ่านมาแล้ว ผู้นำประเทศไทยในสถานการณ์นี้ควรมีโรดแม็พ เชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างผังเมืองและการคมนาคมพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพของประชากร ทั้งนี้โรดแม็พ ดังกล่าวต้องเป็นสัญญาประชาคม เพื่อที่ประชาชนจะได้ยอมรับและร่วมพลังกันผลักดันให้เหมาะสมกับหน้าที่ของตน ทิศทางที่มีวิสัยทัศน์ เท่าเทียมและเป็นธรรมจะช่วยสมานความแตกแยกทางสังคม การปรองดองเฉพาะกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ใช่คำตอบที่ประชาชนจะเห็นร่วมในคุณค่า ผู้นำประเทศต้องเร่งแก้ไขปัญหาการเมืองไทย เนื่องจากปัญหาการเมืองไทยได้ขยายไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมที่ชัดเจนของสังคม การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับในความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นทิศทางสำคัญที่ผู้นำประเทศย่อมต้องกระทำให้ได้และก็ควรอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้ด้วย ในการนี้ ผู้นำประเทศและบุคคลล้อมรอบต้องมีภาพลักษณ์ใสสะอาดและกระทำตนเป็นแบบอย่าง สร้างความน่าเชื่อถือ ตั้งมั่นทำทุกอย่างด้วยความมั่นคง กล้าหาญ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยยึดมั่นในประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ผู้นำประเทศต้องปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยเฉพาะในปี 2558 ประเทศไทยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน แต่คุณภาพการศึกษาของไทยยังอยู่ในขั้นต่ำโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ ปัจจุบันนี้กระทรวงศึกษาธิการยังมีการบริหารจัดการที่เทอะทะ ขาดประสิทธิภาพ ผู้นำประเทศจึงควรปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการให้มีความคล่องตัว มีองค์ประกอบขนาดเล็กลงและมีความทันสมัยมากขึ้น ขณะเดียวกันควรขยายประสิทธิภาพการศึกษาของทุกโรงเรียนอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่เพียงโรงเรียนใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง ยิ่งไปกว่านั้นในการบริหารประเทศ ผู้นำประเทศควรสร้างนวัตกรรมในการคัดเลือกบุคลากรทางการเมืองให้เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศและประชาชน โดยบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีควบคุมดูแลกระทรวงต่าง ๆ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงในกระทรวงที่รับผิดชอบ หรือกล่าวอีกแบบคือเลือกคนให้ถูกกับงาน มิใช่เพื่อเอื้อพวกพ้องหรือเครือญาติ สิ่งที่ผู้นำประเทศไม่ควรทำ ผู้นำประเทศไม่ควรดำเนินนโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่า หรือไม่สร้างผลผลิตอย่างคุ้มค่าอันจะเป็นภาระของประเทศไทยต่อไปอีกเป็นเวลานาน เช่น ไม่ควรอาศัยการก่อหนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศเพื่อมาใช้ในโครงการประชานิยมและโครงการที่ส่งเสริมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมกับฐานะทางรายได้ของประชาชน ประชาชนไม่ต้องการเห็นบุคลากรทางการเมืองที่มาจากเส้นสาย เพราะประเทศไทยในสถานการณ์นี้ต้องการผู้ที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดูแลและกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ ไม่ใช่เวลาของมือสมัครเล่น หรือเป็นการตอบแทนตำแหน่งให้กับเครือญาติหรือพวกพ้อง ผู้นำประเทศไม่ควรมุ่งแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า ควรมองทางออกการแก้ปัญหาในระยะยาว และไม่ควรทำงานเพียงเพื่อการสร้างภาพหรือการส่งเสริมภาพลักษณ์ นั่นก็คือ ผู้นำประเทศที่พึงประสงค์ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ต้อง ดี เก่ง มีวิสัยทัศน์ และที่สำคัญคือมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นแบบอย่างให้กับสังคม.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม