แบงก์ชาติระบุนักลงทุนทั่วโลกจับตาประเด็นการเมืองร้อนในไทย ชี้หากกลับมารุนแรงอาจกระทบการตัดสินใจลงทุน “ประสาร” วอนหาทางออกที่ดีต่อประเทศ บอกช่วงที่ผ่านมา เงินต่างชาติยังไหลเข้าตลาดพันธบัตร และถ้าไม่มีอะไรรุนแรงน่าจะไหลเข้ามาอีกต่อเนื่อง...วันที่ 9 ก.ค. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนไทย รวมทั้งคนไทยจำนวนมาก กำลังติดตามความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศไทยที่มีเพิ่มขึ้น หลังมีคำร้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินเรื่องนี้ในวันที่ 13 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งยอมรับว่าหากสถานการณ์การเมืองมีความรุนแรง หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น จะกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทย รวมถึงการลงทุนของนักลงทุนไทยเอง ซึ่งอาจจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้“ปัจจัยการเมืองกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ว่า ทำอย่างไรถึงจะดีต่อประเทศชาติ เพราะการเมืองในประเทศที่มีความอ่อนไหวมากขึ้นเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างประเทศจับตาอยู่ และเป็นปัจจัยที่จะทำให้ตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วงต่อไปได้” นายประสาร กล่าวผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์วิกฤติในสหภาพยุโรปยังคงผันผวน แต่สุทธินักลงทุนต่างชาติยังมองว่าผลตอบแทนในไทยน้อยกว่าความเสี่ยง ทำให้ยังมีไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสุทธิ ถึงแม้ว่าจะไม่มากเหมือนในช่วง 2 ปีก่อน โดยสินทรัพย์ที่นักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นตลาดตราสารหนี้ ซึ่งในขณะนี้มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตร และตราสารหนี้ของไทยอยู่ไม่มากประมาณ 8-9% ของสัดส่วนตลาดรวม “ธปท.มองว่าในช่วงต่อไป หากไม่มีสถานการณ์อะไรที่มีความเสี่ยงมากในประเทศ นักลงทุนต่างชาติน่าจะเขามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ เกิดปัญหาเขาจะต้องกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า และภาวะเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี” นายประสาร กล่าวทั้งนี้ นายประสาร กล่าวด้วยว่า การรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น ประเทศเรายังมีพร้อมทั้งช่องว่างของนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลของยุโรป และสหรัฐฯ ไม่มีกระสุนในเรื่องนโยบายการคลังแล้ว จึงเน้นไปที่การลดดอกเบี้ยหรือการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในวัฏจักรขาลง ดังนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามเศรษฐกิจโลกที่จะต้องเป็นขาลงทันที เพราะเราจะต้องดูตามสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นหลัก“ในขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่คนละวัฏจักรกับเขา เรายังขยายตัวได้ดี ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศก็มีอยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุล ดอกเบี้ยนโยบายจึงจะดูแลเสถียรภาพเป็นหลัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตามความจำเป็น ซึ่งหากดูประเทศที่มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน อย่างมาเลเซีย หรือเกาหลีใต้ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเราก็ยังเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยอยู่” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
www.thairath.co.th
วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
การเมืองไทยร้อนแรง หวั่นกระทบการตัดสินใจนักลงทุน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น