วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ เตื่อนใจเด็กใหม่

“ตอนนั้นผมอยู่ปี 4 ระหว่างประชุมเรื่องรับน้องเราก็คุยกันไปดื่มเบียร์กันไปหมดเป็นลังๆ หลังจากประชุมเสร็จ ก็เอามอเตอร์ไซค์ขับไปเที่ยวด้วยกันต่อ ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมอเตอร์ไซค์เกิดประสบอุบัติเหตุ ผมสลบไป 1 วันเต็มๆ พอฟื้นขึ้นมาก็รู้ตัวว่าตัวเองสูญเสียขาไป 1 ข้าง พร้อมกับมือซ้ายใช้การไม่ได้ ความฝันในชีวิตหลังจบการศึกษาจบลงในวันนั้นทันที”

สิ้นเสียงเล่าถึงอดีตที่ขื่นขมของ นายนันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการเมาแล้วขับ ที่กล่าวในงานรับน้องใหม่ที่จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์”

ซึ่งเหตุการณ์ของเขาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแอลกอฮอล์ ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้กับน้องใหม่ ที่กำลังจะเปลี่ยนบทบาทของนักเรียนมาเป็นนักศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นวัยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต นักศึกษาหลายคนสูญสิ้นอนาคตเพราะตกเป็นเหยื่อของแอลกอฮอล์

รศ.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านเหล้ารายล้อมมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่าตัว ขณะที่นักศึกษาของที่นี่มากกว่า 50% เป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัด และอาศัยหอพักเป็นที่อยู่ สำหรับปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษาที่เกิดขึ้น เพราะนักศึกษาสามารถหาซื้อได้ง่าย ทั้งในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าใต้หอพัก ไม่มีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด

“ในส่วนตัวมองว่า ปัญหาเยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น นอกจากที่จะหาซื้อได้ง่ายแล้ว ตนยังมองว่า เยาวชนทุกวันนี้มีเวลาว่างมาก อีกทั้งกิจกรรมในสถานศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้ สำหรับการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ของทางมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาใหม่ได้รู้ ตระหนักถึงอันตรายของแอลกอฮอล์ได้” รศ.สุมาลี กล่าว

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทาง มทร.จันทรเกษม ได้จัดให้ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป ทุกคณะจะหยุดทำการเรียนการสอน และเปิดชั่วโมง home room เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและอาจารย์ได้พบปะเพื่อพูดคุย รับฟังปัญหาของนักศึกษา ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะได้ให้คำปรึกษาอย่างทันท่วงที โดยได้ดำเนินการแล้วในภาคเรียนนี้

“สิ่งที่อยากจะฝากไปยังนักศึกษาทั้งใหม่และเก่า ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ทุกคนมีความฝันในชีวิต แต่ถ้าความฝันต้องมาสะดุดลง เพราะเหตุผลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดแล้ว ฝันของเราก็จะไปไม่ถึงฝั่ง” รศ.สุมาลี กล่าว

ทางด้านของมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา นายสุเทพ สดชื่น ผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา เยาวชนมีการรับรู้เรื่องของภัยแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่สวนทางกับผลสำรวจของโพลต่างๆ ที่ระบุว่า เยาวชนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นนั้น เป็นเพราะนักศึกษาสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย ทั้งที่บ้านและสถานศึกษา จากผลสำรวจของทางมูลนิธิฯ ก็ยังพบว่า นักศึกษาที่ดื่มสุรา 1 คน จะเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราเฉลี่ย 300 บาทต่อสัปดาห์ และข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ซึ่งศึกษามูลค่าผลกระทบเชิงลบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยพบว่า รัฐบาลจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุรา เป็นเงินมากกว่า 2,398.21 บาทต่อคน ในด้านภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้นั้น เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าทุกๆ 1 บาท ที่ได้จากภาษีน้ำเมา รัฐและสังคมจะต้องจ่ายออกไป 2 บาท เป็นค่าความเสียหาย ค้ารักษาพยาบาล สารพัด ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลย

ทั้งนี้ ตนมองว่าอุปสรรคที่สำคัญของการรณรงค์เรื่องการขายและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ช่องว่างของตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังแสวงหาผลประโยชน์กับเยาวชนได้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย รวมไปถึงการรับส่วยของเจ้าหน้าที่ด้วย

“สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยร้านเหล้าจะมีผลต่อการเพิ่มปริมาณของนักดื่มหน้าใหม่ได้ง่ายมาก นอกจากนี้ ครอบครัวที่เป็นนักดื่มจะมีผลทำให้เยาวชนหันมาดื่มตามไปด้วย ทั้งนี้ ในการรณรงค์รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์จะเป็นกระตุ้นเตือนสติ ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาควรเปิดพื้นที่ และกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม” นายสุเทพ กล่าว

ด้าน น.ส.ดาราลักษณ์ มงคลชัย นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาการจัดการ และในฐานะนายกองค์การนักศึกษา มทร.จันทรเกษม กล่าวว่า ที่ผ่านมา หลังจากมีการรับน้องก็จะมีการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่แอบดื่มในมหาวิทยาลัย และไปนั่งดื่มที่ร้านเหล้าหลังมหาวิทยาลัย ซึ่งหากไปดูหลังมหาวิทยาลัยจะพบร้านเหล้าเปิดขายอยู่เป็นจำนวนมาก

“ผลดีของการรับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ดี และอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยจริงจัง ทำให้เป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ ไม่ใช่แค่ช่วงรับน้อง สำหรับการรับน้องที่ปลอดแอลกอฮอล์นี้ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงที่รุ่นพี่กระทำต่อรุ่นน้องได้เช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาใหม่ดื่มมากขึ้น ส่วนมากได้รับคำชักชวนจากรุ่นพี่ และสามารถหาซื้อได้ง่าย” นายกองค์การนักศึกษา กล่าว

“อยากฝากไปถึงรุ่นพี่บางคนที่ยังดื่มอยู่ ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง อย่าคิดว่า กฎมีไว้ให้แหก เราควรจะร่วมสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับน้องใหม่ ส่วนผู้ประกอบการอยากจะบอกเขาว่า ให้มีจิตสำนึกอย่าพยายามหาผลประโยชน์กับเด็ก ลองคิดดูว่าถ้าเป็นลูกหลานของคุณแล้วจะรู้สึกอย่างไร”

รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงภัยของแอลกอฮอล์…ความฝันที่สวยงามของทุกคนหลังจบการศึกษา มันอาจจะเป็นแค่ความฝันตลอดไป ทั้งที่ยังไม่จบการศึกษาก็ได้ ถ้ารุ่นพี่ยังไม่เลิกค่านิยมรับน้องใหม่แล้วต้องดื่ม



www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม