วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลยิ่งลักษณ์สะเทือน? กับคำวินิจฉัยศาล

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ออกไปในทิศทางไหน เป็นคำถามที่เจอบ่อยที่สุดในเวลานี้ และคาดกันไปต่างๆ นานาตามแต่ที่อยากให้เป็น แต่คำตอบต้องรอวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยจะอยู่ใน 4 ประเด็นการพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แต่แรก นั่นคือ 1. อำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสอง 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และ 4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่ ถ้าประเด็นแรกไม่ผ่านก็จบ ศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้อง แต่ถ้าผ่านและวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถกระทำได้ กระบวนการโหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ก็เดินต่อในเดือนสิงหาคมนี้ทันที แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับไม่ได้ รัฐสภาก็ต้องกลับไปแก้เป็นรายมาตรา กรณีวินิจฉัยว่า ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ก็อาจมีการพิจารณาต่อว่า ที่แก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่ล้มล้างก็ไม่มีการวินิจฉัยอย่างอื่นเพิ่ม นอกจากรัฐสภากลับไปแก้ไขรายมาตรา แต่หากวินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อว่า จะต้องยุบพรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่พยานหลักฐาน และข้อกฎหมาย ตามที่มีการไต่สวนกัน 2 วันในสัปดาห์ก่อน ถ้ามีการยุบพรรคเพื่อไทย ก็มีการเตรียมการเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้แล้ว คือให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองนอมินีแทน เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมิได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้โดยไม่ขัดกฎหมาย แต่อาจไม่จบแค่นั้น เพราะยังมีคำร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 416 คน ที่ได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องนำมาพิจารณาเป็นการถัดไปคือ คดีที่ยื่นคำร้องโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉะนั้น คดีนี้ไปได้ไกลสุดคือ อาจมีการถอดถอนสมาชิกรัฐสภาทั้ง 416 คน ซึ่งนั้นหมายความว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ต้องสิ้นสภาพไปเช่นกัน เพราะเสียงสนับสนุนในรัฐสภาไม่เพียงพอ.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม