วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผู้หญิงจัดการกับอุทกภัย

สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกกลุ่ม อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้หยุดอยู่ที่ด้านทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่หากยังเกิดความเสียหายในด้านคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชนและสังคม เมื่อเร็วๆ นี้สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ในฐานะประธาน และคณะ ได้จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "บทบาทผู้หญิงกับการจัดการอุทกภัย" ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อหวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการอุทกภัยของแต่ละพื้นที่ เพื่อระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางป้องกันผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในอนาคต และนำเอาข้อมูลที่ได้มาตกผลึกจัดทำเป็นคู่มือบทบาทผู้หญิงกับการจัดการอุทกภัย ณ หอประชุมมนังคศิลา กทม. คุณหญิงณัฐิกากล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การประชุมครั้งนี้มีเครือข่ายผู้หญิงผู้ประสบอุทกภัยหลากหลายภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสตรีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ กลุ่มสตรีเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน สตรีผู้นำชุมชน และกลุ่มสตรีผู้นำหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และองค์กระชุมชน โดยกลุ่มผู้หญิงแต่ละภาคส่วน มีบทบาทเป็นทั้งผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเป็นผู้ประสบภัยด้วยตนเอง ฉะนั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะมหาอุทกภัยที่ผ่านพ้นมาเมื่อปลายปีที่แล้ว จะทำให้เรารู้ได้ว่าเขาจัดการปัญหา หรือดำเนินแนวทางป้องกันภัยพิบัติกันอย่างไร มีความสำเร็จมากน้อยเพียงไหน หรือประสบปัญหากับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงในแง่ใด และในอนาคตเราจะช่วยกันบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร "หลังจากนี้ เราจะรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดและนำมาถอดบทเรียน ก่อนจะผนวกเข้ากับเนื้อหาด้านการจัดการกับอุทกภัยของผู้หญิงที่มีอยู่เดิม และจัดทำเป็นหนังสือคู่มือในแบบ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก่อนจะแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ผ่านองค์กรในเครือข่ายของสภาสตรีแห่งชาติฯ ที่มีมากกว่า 214 แห่งทั่วประเทศ และนำเสนอต่อเวทีโลกผ่านสภาสตรีระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด เข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสช่วยชีวิตตัวเองและคนในครอบครัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าการดำเนินงานจัดทำหนังสือจะเสร็จทันปลายปีนี้ แต่ยังขาดงบประมาณในการจัดพิมพ์อีกพอสมควร ฉะนั้นหากใครมีจิตกุศลจะร่วมบริจาค ทางสภาสตรีแห่งชาติฯ ก็ยินดีค่ะ" ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าว ด้านเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะวิทยากรและผู้จัดทำหนังสือคู่มือบทบาทผู้หญิงกับการจัดการอุทกภัย ระบุสาเหตุที่ต้องระดมความคิดและถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นหนังสือคู่มือว่า ที่ผ่านมาผู้หญิงไม่ได้ถูกจัดให้มีความสำคัญในการร่วมแก้ปัญหายามเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ทำให้ภาพการช่วยเหลือที่ออกมาจะเป็นว่าผู้หญิงทุกข์ทรมานกว่าผู้ชายหลายเท่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบการช่วยเหลือ การไม่สามารถละทิ้งสมาชิกในครอบครัวมาเข้าคิวรับของแจกเพื่อประทังชีวิตได้ ของที่ได้รับแจกก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ เช่น ไม่มีเสื้อชั้นในหรือผ้าอนามัย หรือไม่มีพื้นที่ให้นมเฉพาะสำหรับแม่ที่มีลูกอ่อน ขณะที่ห้องน้ำและที่นอนก็อยู่รวมกัน ฯลฯ "สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่ตระหนักหรือมีองค์ความรู้หลักเกณฑ์ที่ดีในการช่วยเหลือจัดสรรแล้ว ผลที่ตามมาก็คือการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้หญิง ที่ร้ายแรงจนเป็นข่าวก็คือผู้หญิงถูกข่มขืนในศูนย์อพยพ" เรวดีกล่าว และแจงต่อถึงเนื้อหาที่จะนำใส่ไว้ในหนังสือด้วยว่า สาระที่อยู่ในหนังสือคู่มือครอบคลุมการแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติสำหรับผู้หญิงแทบทุกด้าน เพราะมุมมองที่ผู้ชายมองไม่ถึงได้ถูกเติมเต็มแล้ว และยังเป็นผลดีต่อการสร้างสังคมปลอดภัยด้วย อย่าลืมว่าถ้าผู้หญิงได้รับอันตราย ผลกระทบย่อมตกอยู่ครอบครัวและชุมชนที่ผู้หญิงเป็นเสาหลักในการดูแล "ลักษณะของคู่มือที่กำลังจัดทำนั้น จะเป็นเหมือนไกด์ไลน์ที่มีรูปการ์ตูนแอนิเมชั่นผสมอยู่ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้หญิง ส่วนเนื้อหานั้นจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการตั้งแต่ก่อนเกิดอุทกภัย ระหว่างเกิดอุทกภัย และหลังเกิดอุทกภัย บวกกับข้อเสนอที่มีต่อหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างหลักประกันความยั่งยืนในการดูแลช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก และคนชรา โดยคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้" ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกล่าวทิ้งท้าย สนใจร่วมสมทบทุนจัดพิมพ์หนังสือคู่มือบทบาทผู้หญิงกับการจัดการอุทกภัย กับสภาสตรีแห่งชาติฯ ติดต่อคุณวณิชา โทร. 0-2234-0095.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม