วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ฟรอสต์ฯ แนะ ลงทุนในพม่า อย่าใจร้อน

ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน แนะ นักลงทุนไทยควรศึกษาทางเลือกในการเข้าไปทำธุรกิจในพม่าให้รอบคอบเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ

ดร. มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกกล่าวว่า จากผลการศึกษาในภาพรวม ถึงโอกาสในการขยายธุรกิจไปพม่า ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคในพม่า พบว่า ประเทศพม่ามีความต้องการสินค้าและทัศนคติที่ดีต่อสินค้าจากประเทศไทยไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความนิยมมากกว่าสินค้าจีนที่ส่วนใหญ่มาจากทางยูนาน และผลิตในคุณภาพต่ำเพื่อส่งออกให้ตลาดพม่าเท่านั้น ต่างจากสินค้าไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกับที่ผลิตขายในประเทศไทย จึงมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน แต่เนื่องจากปัจจุบัน จำนวนสินค้าไทยและช่องทางในการจำหน่ายยังน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าจีน ดังนั้นความต้องการดังกล่าวจึงยังมีสูงมาก

 

 

“ในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็เช่นกัน เนื่องจากมีเม็ดเงินมหาศาลที่ใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จึงส่งผลให้มีความต้องการอย่างสูงต่อสินค้าอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะขยายตลาดไปยังพม่า ที่มีประชากรเกือบ 60 ล้านคน เท่ากับเป็นการเพิ่มขนาดของตลาดอีกเกือบเท่าตัว จากตลาดไทยเพียงแห่งเดียว”

“ปัจจุบันมีธุรกิจในหลายประเภทอุตสาหกรรมได้ติดต่อให้บริษัทฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงโอกาสในการขยายธุรกิจไปพม่า ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคในพม่า อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาที่ ฟรอสต์ฯ ได้แนะนำธุรกิจส่วนใหญ่ นั่นคือการเข้าไปทำธุรกิจในรูปแบบ Partnership หรือ Joint Venture กับผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือแม้แต่การร่วมงานกับทางภาครัฐ ซึ่งมีการเปิดให้เอกชนเข้าไปร่วมงานในรูปแบบ Product Sharing หรือ Profit Sharing ซึ่งการเข้าไปในรูปแบบดังกล่าวเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมอีกหลายด้านในพม่าซึ่งอาจเป็นความเสี่ยง หากธุรกิจไม่วิเคราะห์ถี่ถ้วน และตัดสินใจกระโดดเข้าไปในขณะที่สภาพแวดล้อมไม่พอ โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยหลักคือ

1. โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการคมนาคม และโลจิสติกส์ ตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นไฟฟ้า ซึ่งยังมีปัญหาอยู่มาก เห็นได้จากแม้แต่ในตึกใหญ่บางแห่ง ยังมีการไฟฟ้าดับเป็นครั้งคราว ตลอดจนการเข้าถึงอินเตอร์เนทบรอดแบรนด์ซึ่งยังมีน้อย และไม่เสถียร ในขณะที่ดาต้าโรมมิ่งบนมือถือยังใช้การไม่ได้

2. ปัจจัยทรัพยากรบุคคล ถึงแม้ว่าประชากรพม่ามีอัตราการอ่านสูง แต่มากกว่า1ใน3 ยังมีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถม ดังนั้น ธุรกิจที่เข้าไปแล้วต้องพึ่งแรงงานท้องถิ่นอาจประสบปัญหาขาดแคลนบุคคลากร ดังนั้นจึงควรตระหนักให้ถี่ด้วนโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความสามารถด้านเทคนิค อาจต้องมีการนำเข้าบุคลากรจากประเทศอื่น

3. กฏหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ยังไม่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ตลอดจนต้องมีปรับเปลี่ยนกฏหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นการร่างหรือแก้ไขกฏหมายอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงก่อให้เกิดสูญญากาศ ซึ่งฟรอสต์ฯ มองว่าเป็นความเสี่ยงหากไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เนือ่งจากทางรัฐบาลชุดใหม่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการพัฒนาประเทศ จึงถือเป็นมุมมองด้านบวกถึงแม้ยังมีความไม่พร้อมอยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ ดร. มนธ์สินี ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเข้าไปลงทุนในรูปแบบของบริษัทใหญ่ซึ่งมีเงินทุนสูงอาจจะมีความเสี่ยงสูงและใช้เวลานานในการจัดการต่างๆ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นทางลัด ใช้เวลาใม่นานในการเข้าตลาดและมีความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนเป็นการได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่างๆ และเครือข่ายทางธุรกิจที่มีอยู่แล้วกับคู่ค้าท้องถิ่นอีกด้วย

“การหาพันธมิตรทางธุรกิจ อาจจะเสียเวลาในช่วงการจัดหาและเลือกสรร ตลอดจน การทำสัญญาระหว่างกัน แต่อย่างไรก็ดี นับได้ว่าเป็นวิธีการที่หลายบริษัททำแล้วประสบความสำเร็จ สามารถลดระยะเวลาในการเข้าตลาด และลดความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งหากมีความพร้อมในเรื่องนี้ ธุรกิจจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ตราบใดที่นักธุรกิจมีความจริงใจที่จะนำสินค้าบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเข้าไป เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยอยู่แล้ว” ดร. มนธ์สินีให้ความเห็น



www.newswit.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม