วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชะลอการลงทุนในพม่า-รัฐยะไข่

กลับจากอเมริกาและแคนาดาปุ๊บ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ก็ออกออนทัวร์ตระเวนบรรยายรับใช้ในที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สนง.ภาคเหนือ และในภาคอีสานที่ห้องประชุม อบจ.ขอนแก่น รับใช้สมาพันธ์ยุวประชาธิปไตยขอนแก่นอังคารวันนี้ได้ฤกษ์กลับกรุงเทพฯ 14.00-16.30 น. นายคงศักดิ์ พรหมแพทย์ รองประธานชมรมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ พูด “การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558” รับใช้ผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯความขัดแย้งระหว่างชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามเป็นปัญหาที่คลาสสิกมากครับ บางมิติของปัญหายะไข่ทำให้เราสามารถเอามาประยุกต์มองปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมคิดว่า เราน่าจะต้องศึกษาปัญหายะไข่ เพราะขณะนี้มีกระแสแรงเรื่องเข้าไปลงทุนในพม่า ด้วยเหตุที่ว่าโลกตะวันตกผ่อนคลาย+ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ผมเห็นด้วยกับการลงทุนแต่ต้องระวังเรื่องในรัฐยะไข่  อย่าเพิ่งเข้าไปโดยไม่ศึกษาข้อมูลทางด้านความไม่สงบยะไข่เคยเป็นแคว้นที่มีกำลังวังชามากขนาดยกทัพไปตีพม่า ตีเบงกอล บุกเข้าไปในแดนดินถิ่นลุ่มแม่น้ำคงคา ทว่าภายหลังพวกเจ้ายะไข่ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง+ได้ผู้นำที่ไร้ความสามารถ บั้นปลายท้ายที่สุด  ยะไข่ก็เสร็จพม่า พม่ายึดยะไข่ได้ใน พ.ศ.2327 ยึดได้แล้ว พม่าก็เกณฑ์พระเจ้าสะมาดา พระราชวงศ์และประชาชนคนยะไข่อีก 2 หมื่น ไปเป็นเชลยเพื่อใช้ทำไร่ไถนา พวกยะไข่ที่ทนไม่ไหวก็หนีไปตายเอาดาบหน้าที่แคว้นเบงกอลของอังกฤษ ซึ่งประชาชนคนส่วนใหญ่ของรัฐนั้นนับถือศาสนาอิสลามเมื่อเลียแผลจนหายดี พอมีกำลังวังชาขึ้นมาใหม่ พวกยะไข่ที่หนีพม่ามาอยู่ในแคว้นเบงกอลก็สะสมอาวุธและกลับเข้าไปก่อกบฏในแคว้นยะไข่ พม่าจึงขอให้อังกฤษส่งพวกกบฏยะไข่กลับมาให้ อังกฤษก็เออออห่อหมก  แต่ทำได้ไม่เต็มที่เพราะตามชายแดนของแคว้นเบงกอลกับแคว้นยะไข่เป็นป่าทึบ มีมาลาเรียชุกชุม ทหารอังกฤษจึงปฏิบัติงานกันอย่างล่าช้าเหยาะแหยะ ทหารพม่าจึงหัวเราะแหะๆ ดูหมิ่นถิ่นแคลนฝีมือและอำนาจของทหารอังกฤษ ทหารพม่าบางกองเหิมเกริมเติมใจ กล้าเอาไม้ไปแหย่หูเสือ ด้วยการรุกเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระที่อังกฤษปกครองอยู่ตอนนั้นอังกฤษมีปัญหาในอาณานิคมหลายแห่ง  จึงยังไม่อยากตีพม่ากลับดอกหรอกครับ แต่ต้องซัดพม่า เพราะทหารพม่าประมาณศักยภาพของอังกฤษต่ำอย่างชนิดคาดไม่ถึงอยู่หลายต่อหลายครั้ง  ครั้งที่แรงที่สุดก็คือ กองกำลังของพม่าบุกเข้าไปในเมืองรามูแห่งแคว้นเบงกอล เพื่อจับเจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษข้อหาเข้าไปล่าช้างในเขตยะไข่  ต่อมากองกำลังพม่าก็เข้าไปในแคว้นกะซาร์ที่อังกฤษประกาศว่าเป็นแคว้นอารักขาของตน แหย่จมูกเสือไปหลายครั้ง เมื่อเห็นว่าอังกฤษเป็นเสือกระดาษ พม่าก็สะสมกำลังเตรียมเข้ายึดเมืองจิตตะกองของอังกฤษทั้งที่มีปัญหาในอัฟกานิสถานและที่อื่นอีกหลายแห่ง แต่อังกฤษก็แบ่งกำลังมาช่วยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตีพม่าข้อหากร่าง+เหิมเกริม เมื่อ 5 มีนาคม 2367 โลกเรียกการรบในครั้งนั้นว่า สงครามอังกฤษ–พม่า ครั้งที่ 1 ผลก็คือ พม่าแพ้ราบคาบนาบดิน ต้องทำสัญญายันดาโบ ยกแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ ให้อังกฤษแรกเริ่มเดิมที พวกยะไข่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษน่าดู อังกฤษก็รู้ว่า ถ้าแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนได้ ก็น่าจะได้ใจพวกยะไข่ อังกฤษจึงส่งเสริมการขยายเนื้อที่ปลูกข้าวและทำไร่ไถนา นำแรงงานอินเดียมุสลิมจากแคว้นเบงกอลเข้ามาช่วยทำงาน เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป แคว้นยะไข่เจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ประชาชนแฮปปี้มีความสุข รักอังกฤษ บ้าอังกฤษ  ผลจากการเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาด้านการเกษตร  ผู้อ่านท่านครับ อัคยับของยะไข่กลายเป็นเมืองที่ส่งออกข้าวได้มากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกในห้วงช่วงนั้นเลยทีเดียวกรณีศึกษาของยะไข่และอังกฤษ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ไม่จำเป็นดอกครับ ว่าใคร เผ่าพันธุ์ไหน พรรคการเมืองใด จะขึ้นมาปกครองอาณา ประชาราษฎร์ ขอให้จริงใจและทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ มีผลงานชัดเจนจับต้องได้ ไม่ใช่เอาแต่ปฏิบัติการจิตวิทยาว่าประเทศของเราเจริญรุดหน้า อ้า เอาแต่ไชโยโห่ร้องสรรเสริญเยินยอกันไปทั่วทั้งแผ่นดิน แต่ในความเป็นจริงประชาชนผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศยังท้องว่างไส้กิ่วหิวโหยโรยราหน้าแห้ง ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ได้ใจประชาชนดอกครับ ตราบใดที่ยังโหยหิวจนแสบท้อง สายตาประชาชนก็จะสอดส่ายไปมา จ้องหาโอกาสล้มล้างการปกครองของเดิมในขณะนั้น อยู่ทุกเวลานาทีใครอยากเป็นใหญ่ได้ใจคนทั้งแผ่นดินของแท้ ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ในห้วงช่วงที่อังกฤษปกครองแคว้นยะไข่ครับ.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม