วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เอไอเอ ใจปล้ำ ยื่นมือช่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

ในแต่ละปีมีเด็กไม่ต่ำกว่า 2,500 คนในประเทศไทย ที่เกิดมาพร้อมความพิการด้วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งเป็นความพิการบนใบหน้า หรือจากสถิติข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ในเด็กเกิดใหม่ทุก 500 คนจะมีเด็กที่มีความพิการด้วยโรคดังกล่าว 1 คน การผ่าตัดในเวลาเพียงประมาณ 60 นาที และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อครั้งเพียง 15,000 บาท จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเด็กเหล่านี้ หลุดพ้นจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาต่างๆ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางอารมณ์ และการพัฒนาการทางร่างกาย เพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างสะดวก จนอาจเป็นสาเหตุขาดสารอาหารที่จำเป็น และเป็นที่มาของการเจ็บป่วย ไม่สามารถโตเต็มวัยได้ ที่สำคัญการไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคม โดนเพื่อนล้อ ทำให้เกิดความทุกข์ใจมากกว่าความพิการบนใบหน้าด้วยซ้ำ ดังคำว่าที่ "ปากของฉันที่แหว่ง แต่กลับเจ็บปวดที่หัวใจ" แต่ถ้าหากพวกเขาได้รับการผ่าตัดแก้ไขใบหน้า ก็จะทำให้เขากลับมามีชีวิตปกติได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ ทั่วไป โครงการ Operation Smile Thailand หรือมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ให้มีโอกาสผ่าตัดได้เร็วขึ้น ซึ่งบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ ผ่านโครงการ "เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม" ผ่านทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ตั้งแต่ปี 2547 หรือในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2555 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการปีที่ 9 การดำเนินโครงการได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "เอไอเอ 85 รอยยิ้ม" ม.ล.จิรเศรษฐ์ ศุขสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการช่วยเหลือผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ พิเศษกว่าปีก่อนๆ ตรงที่ในปีนี้มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 85 พรรษา ซึ่งทางเอไอเอจะมอบเงิน จำนวน 1.7 ล้านบาท ในการผ่าตัดเด็กผ่านโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลมหาราช จ.นครศรีธรรมราช แห่งละ 85 ราย "ที่ผ่านมาเรายึดนโยบายสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ในปณิธาน "Healthy Living" ที่ปฏิบัติกันทุกประเทศ และโครงการเอไอเอสร้างรอยยิ้ม ได้มอบรอยยิ้ม ชีวิตใหม่ให้กับเด็กปากแหว่งเพดานโหว่แล้วจำนวน 1,600 ราย ภายใต้เงินสนับสนุนกว่า 16 ล้านบาท และปีนี้เรายังคงเดินหน้าสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ที่มีปัญหาต่อไป มอบรอยยิ้มให้กับเขา ให้หายจากความทนทุกข์ คืนความมั่นใจให้กลับมา เปรียบเสมือนการเปลี่ยนชีวิตและนำรอยยิ้มสู่บุคคลเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์" ม.ล.จิรเศรษฐ์กล่าว ยังไม่มีข้อสันนิษฐานที่แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็ก แต่ตามหลักการแพทย์ระบุว่า โรคปากแหว่งเพดานโหว่เกิดจากการก่อตัวของเนื้อเยื่อในช่วงก่อนแรกเกิดที่ไม่สมบูรณ์ พญ.พัลลภา วงศ์วนากุล แพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลพระพุทธชินราช กล่าวว่า สาเหตุของโรคมีหลายปัจจัยอย่างแรกอาจมาจากพันธุกรรม การขาดสารอาหารสำคัญ เช่น โฟลิก ระหว่างแม่ตั้งท้อง หรือการได้รับสารเคมีบางชนิด "นอกจากนี้ยังมีปัญหาแม่บางคนในชนบทไม่มาฝากท้อง ทำให้ไม่ได้รับการตรวจว่าขาดสารอาหารอะไรบ้างระหว่างช่วงตั้งครรภ์ เช่น ถ้าพบว่าขาดโฟลิก ก็อาจจะมีการให้อาหารเสริมเข้าไป "พญ.พัลลภากล่าว และในการผ่าตัดแก้ไขปัญหา เด็กบางคนจะต้องผ่าตัดไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความพิการ ซึ่งทางเอไอเอจะรับผิดชอบในการผ่าตัดทุกครั้ง จนกว่าเด็กคนนั้นจะหายเป็นปกติ ช่วงอายุเด็กๆ ที่ผ่าตัดแล้วได้ผลดีก็คือช่วงอายุยังน้อย เช่น ถ้าพบตั้งแต่แรกเกิด ก็จะให้มีอายุ 4 เดือนขึ้นไปถึงจะผ่าตัดได้ หรือถ้ามารักษาตอนโต ก็ยังสามารถผ่าตัดแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน" พญ.พัลลภากล่าว จากสถิติในไทยยังพบอีกว่า อัตราเด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่มักจะเกิดในแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ที่มีฐานะยากจน แม้จะมีช่องทางในการใช้สิทธิ์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการผ่าตัดแก้ไขได้ แต่ก็ต้องรอคิวเป็นเวลานาน ดังนั้นการมีโครงการจากเอไอเอ และมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม จึงเป็นช่องทางที่ทำให้เด็กๆ เข้าถึงการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน โดยเฉพาะในคนที่อยู่ห่างไกล โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทาง ค่าที่พักและอาหารให้กับผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วย "น้องหนึ่งเดียว" ทารกน้อยวัย 7 เดือน เป็นหนึ่งในเด็กที่เข้าร่วมโครงการ "เอไอเอ 85 รอยยิ้ม" ที่ รพ.พระพุทธชินราช คุณแม่น้องเดียวเล่าว่า พบว่าน้องพิการตั้งแต่แรกเกิด นอกจากปากแหว่งแล้วน้องยังมีปัญหาเพดานโหว่ ทำให้ดูดนมแล้วสำลัก กินนมเองไม่ได้ ต้องใช้สายสอดเข้าไปเพื่อให้น้ำนม นอกจากนี้น้องยังงอแงเรื่อยๆ ที่ผ่านมาน้องเดี่ยวผ่าตัดไปแล้ว 1 ครั้ง แต่จะต้องมีการผ่าอีก 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะตรงเพดานที่โหว่ อาจจะต้องรอให้น้องโตกว่านี้ "และดีใจมากที่น้องได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ เพราะตอนแรกเราก็ตกใจ กลัวน้องจะไม่ปกติเหมือนคนอื่น แต่พอผ่าตัดแล้วเชื่อว่าน้องจะกลับมาปกติเหมือนคนทั่วไป" คุณแม่น้องหนึ่งเดียวกล่าว.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม