วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"ปราบคอรัปชั่น..รัฐบาลยังไม่ใส่ใจ"

แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแสดงท่าทีเอาจริงเอาจังกับการปราบทุจริต คอรัปชั่น แต่ทว่า ในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้เลย เห็นได้จากหลายครั้งที่มีข้อเสนอจากภาคเอกชน นักธุรกิจ แต่รัฐบาลไม่ตอบสนองและนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น และพ่วงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "อีโคโฟกัส" เอาไว้
0 สถานการณ์การทุจริตคอรัปชั่น เท่าที่ได้รับฟังมาเป็นอย่างไร
เรื่องที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวในลักษณะที่ว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น เพราะอันนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความเป็นจริง และเมื่อเราไปคุยกับผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการธุรกิจ ก็ออกมาเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น ว่าขณะนี้เรื่องของทุจริตคอรัปชั่นมันหนักยิ่งขึ้น มันมีการปฏิบัติที่ทำให้คอรัปชั่นกันอย่างแพร่หลาย
0 เท่าที่ดูพฤติกรรม วิธีการ รูปแบบการเสนอ และการรับข้อเสนอในการคอรัปชั่นเป็นอย่างไรบ้าง
คือรูปแบบของการคอรัปชั่นแบบเดิมๆ มันก็มีอยู่เยอะ ที่เราเห็นอยู่เป็นประจำก็คือเรื่องของการให้สินบน หรือจ่ายเบี้ยใบ้รายทางเล็กน้อย ยังมีอยู่เป็นประจำ แต่ที่มันเริ่มหนักหนาสาหัส ก็เพราะว่าในกรณีมีการประมูลงานรัฐบาลใหญ่ๆ การเรียกผลตอบแทนมันสูงขึ้น และหลังๆ จะได้ยินคนพูดกันว่าถึง 30% ก็มี ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยก่อนจะอยู่ที่ 5-6% ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ขณะนี้ถึงขั้นวิกฤติ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เงินงบประมาณของรัฐบาลที่ใช้จ่ายไปในการบริหารประเทศ ถ้ามันรั่วไหลไปได้ถึง 10-30% ก็เป็นเงินเยอะ
0 มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น แม้ว่าฝั่งการเมืองหรือผู้มีอำนาจเสนอมา แต่ถ้านักธุรกิจไม่ให้ ไม่จ่าย มันก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมามีการจ่าย มีการให้ เป็นเพราะว่ายังไง โดนบีบบังคับหรือว่าสมยอม
ก็คงจะประสมประสานกัน แต่ผมคิดว่าทางภาคเอกชนเองก็มีส่วนในการที่ก่อให้เกิดปัญหา มันจะมีคนประเภทที่ต้องการผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ก็ไปนำเสนอให้กับทางผู้มีอำนาจที่จะตั้งเงื่อนไขหรืออะไรต่างๆ ที่จะเป็นผลประโยชน์กับตัว ซึ่งอันนี้ก็เพื่อทำให้ตัวเองมีการแข่งขันที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็มีที่ว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เรียกร้องที่จะให้ผู้ที่เข้ามาร่วมด้วยต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน เพราะฉะนั้นทางภาคเอกชนเองก็โดนทั้งสองทาง แล้วก็ไปร่วมกับเขาด้วย ถ้าเผื่อไม่ทำ ก็เกรงว่าจะเสียงาน ไม่ได้งาน มันก็เลยเป็นกระบวนการ ไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ ถ้าทำก็ทำให้มีความรู้สึกว่ามันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะทนไม่ไหวอยู่ดีเหมือนกัน
0 หลังจากมีการปลุกกระแสต่อต้านเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร
เราสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกๆ 6 เดือน ที่ทำมาครั้งนี้จะเป็น 2 หรือ 3 เมื่อเร็วๆ นี้สิ่งที่สะท้อนในเรื่องของภาพลักษณ์ของประชาชนคิดว่าดีหรือยัง ซึ่งประชาชนคิดว่ายังไม่ดีขึ้น การรณรงค์ของเรา ถึงแม้จะเริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มรับรู้มากขึ้น แต่ความรู้สึกลึกๆ ก็ยังเห็นว่าไม่ดีขึ้น
สมัยก่อนเราถามประชาชนว่า เวลามีทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนรู้สึกเป็นห่วงไหม มันเกี่ยวข้องกับเขาหรือเปล่า ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า มันไม่เกี่ยวกับเขาหรอก เพราะคล้ายว่ามันไกลตัวเหลือเกิน แต่หลังๆ เมื่อเราถามจะเริ่มมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไป จะมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาพูดว่า เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราเดือดร้อน เรื่องที่เราต้องรับรู้ แล้วก็อยากมีส่วนร่วม อันนี้คงจะดีขึ้น เพราะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักว่าการที่ประเทศมีความเสียหายจากการคดโกง จริงๆ แล้วมันก็ทำให้เขาเดือดร้อนด้วยในที่สุด
ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจากปัญหาเกิดน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว คนก็เลยมีความรู้สึกว่าปัญหาน้ำท่วม เป็นเพราะว่าการบริหารการจัดการที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในอดีต จึงทำให้การป้องกันน้ำไม่ดีหรือเปล่า แล้วก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและเสียหาย เป็นต้น
0 ในส่วนของภาคเอกชน ตอนนี้มีกี่กลุ่มที่มาเป็นสมาชิกภาคีฯ
ตอนนี้เรามี 40 องค์กรที่มาร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ภาคเอกชนทั้งหมด จะมีทั้งเอกชนและภาครัฐ ซึ่งก็จะมีองค์กรอิสระ หรือองค์กรภาครัฐหลายแห่งเหมือนกันที่มาเข้าร่วม เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน
0 โครงการที่ได้เปิดไปชุดแรก "หมาเฝ้าบ้าน" ตอนนี้ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง
โครงการหมาเฝ้าบ้านได้มีการอบรมไปแล้วประมาณ 200 คน ชุดนี้ได้มีการจัดเป็นกลุ่มเป็นก้อนว่าใครชำนาญด้านไหน ใครสนใจงานประเภทไหน แล้วก็จะจัดงานให้เข้าไปดู ไปเฝ้าระวังในโครงการต่างๆ ก็เข้าไปดูว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น หรืออะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า แล้วก็มีกระบวนการให้เขารายงานกลับเข้ามา ถ้าไปพบเห็นอะไรที่ให้เห็นว่าอาจจะทำอะไรที่ประพฤติมิชอบ เราก็จะมีคนที่มีความรู้ความชำนาญเพิ่มเติมไปดูลึกลงไปอีก
ถ้ามีเหตุผลพอ เราก็จะรายงานตรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปช. ซึ่งเราก็จะส่งเรื่องไป เราก็คิดว่า ปปช.อย่างน้อยคงจะมีอำนาจที่จะเรียกหน่วยงานนั้นมาอธิบาย เพราะเราไม่มีอำนาจ เราเป็นแค่ภาคเอกชนที่ชี้เบาะแสเท่านั้นเอง แล้วเราจะทำเข้มไปกว่านั้นก็คือ เราจะเอาประมาณ 30 คน จาก 200 คนมาฝึกอบรมเข้ม ให้รู้กระบวนการที่เจาะลึกได้ ก็เหมือนกับพวกนักข่าวที่ทำข่าวสืบสวน สอบสวน แล้วจะให้เครื่องมือด้วย ว่า ถ่ายรูปยังไงถ้าพบเห็น ส่งข่าวยังไง ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนนี้มีความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้น
เราหวังว่าคนพวกนี้จะเป็นคนที่ช่วยเฝ้าระวัง แล้วก็เตือนใจให้กับทางหน่วยงานรัฐที่มีการทำงานในเรื่องของการใช้งบประมาณเยอะๆ ได้พึงสำนึกว่าเราต้องการตรวจสอบ
0 หมาเฝ้าบ้านนี้คัดมาจากไหน
เราจะรับอาสาสมัคร ดูคุณสมบัติ แล้วเอามาฝึกอบรม และให้ลองทำงานดู ถ้าเผื่อว่ามีความรู้ความสามารถที่ทำได้ เราก็จะพยายามขอความร่วมมือเขาต่อไป
0 หลังจากที่ทีมหมาเฝ้าบ้านเริ่มทำงาน มีการรายงานผลเข้ามาบ้างยัง
ก็มีรายงานกลับเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เราจะสามารถตอบโจทย์ได้ทีเดียว ซึ่งสำหรับผมคิดว่าระยะนี้ยังถือเป็นระยะที่ฝึกทดลองอยู่ แต่คาดว่า 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้น
0 ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างการประมูลงาน จนถึงตอนนี้ได้รับการตอบรับบ้างหรือยัง
ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะว่าในกระบวนการที่เราคิดว่า การที่จะต่อต้านคอรัปชั่นได้ดี ก็คือให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้มีความชัดเจน ถ้าเรามีข้อมูลพวกนี้ เราก็จะได้ช่วยไปติดตามตรวจสอบ ซึ่งข้อเสนอการเปิดเผยข้อมูลนั้น ก็มาจากการเสนอของ ปปช. ที่ทำโดยคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายในมาตราที่ 103/7, 103/8 ซึ่งพูดไว้สองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือว่า เอกชนที่ทำธุรกิจกับรัฐ ที่เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จะต้องทำบัญชีรายละเอียด จะต้องส่งสรรพากร เพื่อให้ทราบการใช้จ่ายที่ชัดเจน และรับรู้ว่ารับงานมาเท่าไร ใช้จ่ายไปเท่าไร และอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ภาครัฐเองก็ต้องเปิดเผยข้อมูลว่าโครงการอยู่ที่ไหน เป็นเงินเท่าไร แล้วขณะเดียวกัน ก็ให้เปิดเผยราคากลางของโครงการนั้นๆ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ ในส่วนนี้ยังไม่เรียบร้อย เพราะ ครม.เองยังสงสัยในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว
0 ถ้าให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา มองว่ามีจุดหรือข้อแนะนำยังไงบ้าง รัฐบาลจะต้องเร่งเข้าไปดำเนินการให้นโยบายเกิดความต่อเนื่องและให้เกิดผลดีต่อประชาชน
ผมไม่อยากจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยรวมนะ ซึ่งผมไม่ถือว่าอยู่ในหน้าที่ ซึ่งถ้าจะให้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ควรจะเป็นหน้าที่ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพราะเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
ผมอยากจะมองให้หน้าที่การรับผิดชอบของรัฐบาล คือเรื่องของการรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่น คือในประเด็นนี้ทางรัฐบาลยังไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ได้ประกาศเป็นนโยบายตอนที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นนโยบายหลักว่าจะรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่น แต่หากรัฐบาลประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติจริงตามที่พูดไว้ รัฐบาลก็คงจะหันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น และถ้าเพื่อเราสามารถทำงานร่วมกันได้ของภาครัฐและเอกชน ผมคิดว่าโอกาสในการประสบความสำเร็จก็จะมีมากขึ้นไปอีก
0 กรณีประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำด้านการฟอกเงิน มีผลกระทบอย่างไร
คืออันนั้นมันก็เกี่ยวโยงกับคอรัปชั่นบ้าง มันไม่โดยตรง แต่เหมือนกับว่ากระบวนการของประเทศไทยมันไม่โปร่งใส แล้วอาจจะมีการฟอกเงินได้ เพราะฉะนั้นทางต่างประเทศเขาก็จะตั้งข้อรังเกียจที่จะทำธุรกรรมทางด้านการเงินกับประเทศไทย แล้วเผลอๆ อาจจะทำการห้ามประเทศไทยทำธุรกรรมบางอย่าง ซึ่งอันนั้นก็จะเป็นผลร้าย มันไม่ใช่คอรัปชั่นที่เราพูดกัน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่มีการฟอกเงินที่มีส่วนพัวพันเรื่องของการทุจริตด้วย
0 มีข้อสะท้อนของนักธุรกิจต่างชาติผ่านทางภาคเอกชนมาหรือไม่ ว่าเขามองนโยบายการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างไร มองว่าสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้เรื่องการคอรัปชั่น การฟอกเงิน น่าเป็นห่วงขนาดไหน
อันนี้มีแน่ เพราะว่าสถาบันเอกชนต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย หอการค้า สถานทูต เพราะเขามีความเป็นห่วงในเรื่องของความโปร่งใสของประเทศ ในเรื่องของการทำงาน อาจจะมีความไม่เรียบร้อย และมันกระทบต่อการตัดสินใจของเขา เพราะว่าหลายๆ บริษัทที่มาจากความเข้มงวดในเรื่องนี้ ถ้าเผื่อเขาคิดว่าการทำธุรกิจในประเทศไทยไม่สามารถตรงไปตรงมาได้ เขาก็อาจจะเลือกที่ไม่ทำธุรกิจกับประเทศไทย หรือว่าไปลงทุนที่อื่น ซึ่งตรงนี้มีผลกระทบในธุรกิจแน่ เพราะว่าประเทศเรามันโกงกันเยอะ ไม่ลงทุน ย้ายไปประเทศอื่นดีกว่า ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้านเรา
0 โตโยต้ายังลงทุนในประเทศไทยแน่นอน
ทางโตโยต้าเขาก็ได้ประกาศแล้ว เพราะตอนน้ำท่วมก็ประกาศชัดเจนว่า โตโยต้าเองยังสนับสนุนและมีการขยายงาน ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้ว โตโยต้าลงทุนกับประเทศไทยเฉพาะรายปีก็หลายหมื่นล้าน ซึ่งการลงทุนทั้งหมดก็คงเป็นแสนล้านบาท โรงงานใหม่ที่ขยายไปก็หลายพันล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งโตโยต้าด้วย ผมคิดว่าเรายังมีความมั่นคงในระดับหนึ่งที่จะเป็นฐานการลงทุน แต่ว่ายังไม่อยากวางใจ เพราะคู่แข่งของเรามี ถ้าเผื่อมีการปฏิบัติที่กระทบต่อความเจริญเติบโตของธุรกิจประเภทนี้เข้าเมื่อไร ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของแนวความคิด อย่างเช่น นโยบายปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ก็มีส่วนว่า ถูกต้องไหม แฟร์ไหม มันเป็นเรื่องที่ไปทำให้กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกที เพราะต้องเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเชิงการแข่งขันภายในและภายนอกว่าเป็นธรรมไหม.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม