วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปธ.เจโทรเตือนอุตสาหกรรมไทยอาจมีปัญหา ยังขาดแรงงานมีฝีมือ

ประธานเจโทรเตือนธุรกิจ-อุตสาหกรรมในไทยใช้แรงงานเยอะ ประเภทรถยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า เข้าสู่เออีซีมีปัญหาแน่ แนะต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศแรงงานถูก อย่างกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์และพม่า ชี้ไทยยังขาดแรงงานมีฝีมือ หยอดคำหวานไทยยังครองความได้เปรียบในอาเซียน

นายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น( เจโทร) กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นวิทยากรในงานTPA Internationnal Forum 2012 จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อเร็งๆนี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซอยพัฒนาการ 37 กทม. เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ว่า ปัจจุบันการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและอาเซียนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนโดยรวมเติบโตสูง และมีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันอาเซียนก็เป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก เมื่อเป็นเออีซีก็จะสร้างความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะการแบ่งงานในอาเซียนก็มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของอาเซียนจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ถ้าอาเซียนไปทำเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี


นายเซ็ทซึโอะกล่าวว่า ในส่วนของไทย มีการลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงญี่ปุ่นค่อนข้างมาก เห็นชัดว่ามากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ ทำให้ไทยมีฐานทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการสะสมประสบการณ์มากมาย เมื่อเป็นเออีซีไทยก็จะได้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของไทยที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่ๆอย่างรถยนต์หรือเครื่องไฟฟ้า หรือถ้าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางส่วนที่ใช้แรงงานมาก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายไปประเทศอื่นๆที่มีค่าแรงงานถูกกว่า ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องเน้นการผลิตในส่วนอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น


" ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้อยู่แล้ว เมื่อเป็นเออีซี มีการแบ่งแยกงานกัน ประเทศไหนทำงานที่เป็นโลว์สกิล(แรงงานไร้ฝีมือ) ประเทศไหนที่ทำงานเป็นไฮสกิล(แรงงานที่มีทักษะสูง) ซึ่งโดยศักยภาพของประเทศไทยนั้นต้องมุ่งไปสู่ประเภทที่มีไฮสกิลเลเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องค่าจ้างแรงงานเราสู้เขาไม่ได้ ไทยต้องฉวยโอกาสตรงนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างทางสาธารณูปโภค เช่นระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศให้เกิดความราบรื่น ให้การขนส่งสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาประเทศไทยจะทำได้ง่ายขึ้น พิธีการทางภาษีศุลกากรต่างๆก็ต้องทำให้ราบรื่นยิ่งขึ้น เพื่อจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด"นายเซ็ทซึโอะกล่าวและว่า ประเทศที่ยังมีค่าแรงงานที่ต่ำอยู่ก็มีกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์และพม่า


ประธานเจโทรระบุอีกว่า ผลพวงปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาหลายบริษัทของญี่ปุ่นก็ยังคงทำธุรกิจต่อไป แต่จะไม่ขยายธุรกิจลงในที่เดิม อาจจะขยายไปในที่อื่นในประเทศไทย ที่คิดว่าเป็นอันตรายน้อยกว่า สาเหตุที่ยังคงทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เพราะไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกดีทั้งเรื่องไฟฟ้า ถนนหนทางสะดวก รวมทั้งการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ดี และไทยมีการสะสมประสบการณ์มีศักยภาพที่สูง อย่างการหาวัตถุดิบหรือจัดหาชิ้นส่วนก็สามารถทำได้แน่นอน และมีความสะดวก นักธุรกิจญี่ปุ่นจึงยังไม่ไปไหน


"จากนี้ไป เราต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ซึ่งเขาก็มีบีโอไอที่พยายาม ชักชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้ไปลงทุน ฉะนั้นรัฐบาลไทยก็ต้องให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นครั้งที่สอง แม้หลักการนโยบายจะมีแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการจริงต้องเริ่มโดยเร็วเพื่อเป็นการให้สัญญาณว่าจะสามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้"


นายเซ็ทซึโอะย้ำว่า ในการเข้าสู่เออีซีนั้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นไม่น่าเป็นห่วงเพราะไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ และในเรื่องของการแข่งขันที่มีศักยภาพการแข่งขันที่สูง ดังนั้นไทยควรมีมาตรการที่จะเข้าร่วมอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่มองประเทศไทยอย่างเดียว ต้องมองไทย และมองประเทศเพื่อนบ้านว่าจะไปแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้อย่างไร สำหรับ จุดอ่อนของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือยังขาด แรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก ควรจะสร้างบุคลากรพวกนี้ให้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความไทยไม่มีช่างฝีมือหรือวิศวกร เป็นเพราะอุตสาหกรรมเติบโตเร็วกว่า ประเทศไทยสร้างคนไม่ทำ

" เมื่อเป็นเออีซี การแบ่งงานในประเทศต่างๆมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นสามารถมองชัดเจนได้ว่าจะลงทุนที่ไหนดีไม่ดี จะมองภาพนี้ได้ง่ายขึ้น การลดต้นทุนก็จะทำได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคืออินโดนีเซีย แต่พูดถึงอัตราการเติบโตอินโดนีเซียจะสูงกว่า ตามด้วยเวียดนามและกัมพูชา"



www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม