อลังการงานสร้างจริงๆ เมื่อ เฟรด โมอาว็าด หอบสร้อยมรกตมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท พร้อมกระเป๋าถือราคาแพงที่สุดในโลกอวดสื่อมวลชนถึงประเทศไทย
"โมอาว็าด" (Mouaward) เป็นค่ายเพชรสุดหรู ระดับไฮเอ็นด์ มีลูกค้าระดับราชวงศ์ทางฟากตะวันออกกลาง และกลุ่มเซเลบ ดารา-นางแบบดังๆ ของฮอลลีวู้ด เมื่อปีกลายเพิ่งเปิดตัวกระเป๋า "1001 ราตรี" (1001 Nights of Arabian) กระเป๋าสุดหรู ประดับเพชร 4,517 เม็ด น้ำหนักรวม 381.92 กะรัต ที่ได้รับการบันทึกจากกินเนส เวิลด์ ออฟ เร็คคอร์ด ว่า เป็นกระเป๋าที่มีราคาแพงที่สุด ด้วยสนนราคากว่า 117.8 ล้านบาท
ไม่ใช่ชิ้นเดียวที่ขึ้นทำเนียบเวิลด์ เร็คคอร์ดของกินเนส เพราะก่อนหน้าโมอาว็าด จับมือกับวิคตอเรีย ซีเคร็ด จัดแฟชั่นโชว์สุดเซ็กซี่ เมื่อปี 2546
แน่นอนว่า บราชิ้นงาม-รวมทั้งชิ้นล่างด้วย ที่ล้อแสงเป็นประกายวับวาวจับตา เรียกความสนใจจากคนทั้งงาน ราคาประมาณ 341 ล้านบาทนั้นติดอันดับเวิลด์ ออฟ เร็คคอร์ดของกินเนสเช่นกัน
หลังจากนั้น โมอาว็าดก็ทะยานขึ้นทำเนียบผู้ผลิตจิวเวลรี่ ดีไซน์ ระดับต้นๆ ของอเมริกา รวมทั้งเป็นเจ้าของมาร์เก็ตแชร์รายใหญ่ในเม็กซิโก สถานที่ซึ่งโมอาว็าดรุ่นบุกเบิก รุ่นพ่อของปู่ (เดวิด โมอาว็าด) ไปฝึกวิทยายุทธ์อยู่ 20 ปี ก่อนจะคืนสู่บ้านเกิดที่เลบานอน ในฐานะผู้เยี่ยมยุทธด้านผู้ผลิตนาฬิกาจิวเวลรี่
แล้วประเทศไทยเล่า นอกจากจะมีสาวกโมอาว็าดไม่น้อย แต่ต้องบินไปช็อปกันในเมืองนอก เพราะเมืองไทยยังไม่มีช็อปของโมอาว็าด
ทว่า ที่นี่ที่เมืองไทยกลับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของเครื่องประดับหรูเริ่ดแบรนด์โมอาว็าดตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งขุมกำลังการผลิตแห่งนี้ไม่เคยเปิดให้คนนอกเข้าชมอย่างเป็นทางการมาก่อน
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เปิดให้เข้าชมกระบวนการการผลิตอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการรับรองคณะกรรมการของสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งอเมริกา (จีไอเอ) เดินทางมาเยี่ยมชมตลาดค้าอัญมณีของไทย
จะว่าไป "จีไอเอ" ที่รู้จักกันในฐานะสถาบันตรวจสอบวิเคราะห์เพชรและอัญมณีระดับโลก ผู้กำหนดมาตราฐาน 4 C ให้กับการตรวจสอบเพชรและอัญมณีนั้นไม่เพียงเกี่ยวข้องกับโมอาว็าดเฉพาะด้านธุรกิจ แต่ในอดีตเคยได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาวิจัยอัญมณีจากโมอาว็าด ฉะนั้นสถาบันสอนอัญมณีศาสตร์แห่งใหม่ของ "จีไอเอ" ที่เมืองคาร์ลสแบด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงใช้ชื่อว่า "โรเบิร์ต โมอาว็าด แคมปัส" เพื่อเป็นเกียรติสำหรับการอุทิศตนให้กับวงการอุตสาหกรรมอัญมณีของ "โรเบิร์ต" โมอาว็าดรุ่นที่ 3
เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยสำหรับคณะกรรมการ "จีไอเอ" ก่อนจะนำชมเบื้องหลังกระบวนการผลิตอัญมณีแต่ละชิ้น เฟรด โมอาว็าด ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าถึงประวัติความเป็นมาของโมอาว็าด กรุ๊ป ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อกว่า 120 ปีที่แล้ว พร้อมกับอวดโฉม "กระเป๋า 1001 ราตรี" ที่เพียงแค่เปิดกล่อง สายตาทุกคู่ในห้องก็จับจ้องไป ณ จุดๆ เดียว
และเมื่อเฟรดอนุญาตให้แขกทุกคนในห้องได้ยลโฉมกระเป๋าหรูระดับเวิลด์ เร็คคอร์ด แบบสัมผัสได้ทีละคน ดูเหมือนแต่ละนาทีที่ผ่านไปช่างเชื่องช้า เป็นการเฝ้ารอสัมผัสและถ่ายภาพร่วมกับกระเป๋าทองประดับเพชร 4,517 เม็ด รูปหัวใจ ด้วยความจดจ่อ
ว็าดที่น่าภาคภูมิคือ กระเป๋าขึ้นทำเนียบโลกใบนี้ แม้จะขึ้นรูปกระเป๋าจากเมืองนอก แต่การฝังเพชรทุกเม็ดเป็นฝีมือคนไทยล้วนๆ
...เท่านั้นยังไม่พอ เฟรดยังนำเครื่องประดับ มรกตล้อมเพชร ชุด "Haute Joaillerie" ที่ผ่านการตรวจสอบจากสถาบันจีไอเอแล้วว่า เป็นมรกตชิ้นเอกของโลกว่าเป็นมรกตเม็ดใหญ่ที่มีน้ำงามที่สุด จากโคลอมเบียแหล่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสายตระกูลมรกตชั้นเลิศ มายั่วน้ำลาย
ประกอบด้วย "สร้อยมรกตล้อมเพชร" ใช้มรกตแค่ 3 เม็ด น้ำหนักรวม 58.8 กะรัต เฉพาะมรกตเม็ดใหญ่ตรงกลางมีน้ำหนักถึง 36.56 กะรัต ล้อมรอบด้วยเพชร 310 เม็ด น้ำหนักรวม 176.457 กะรัต ไม่รวมต่างหูมรกตล้อมเพชรอีก 2 ชิ้น
ชุดมรกตชุดนี้ทั้งชุดผลิตในประเทศไทยทั้งหมด!
เฟรดเล่าถึงเหตุผลที่โมอาว็าดมาปักหลักใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุด ทั้งๆ ที่ตลาดหลักเป็นลูกค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มีบูติก 13 แห่งใน 7 ประเทศทั่วโลก คือ จอร์แดน เลบานอน มาเลเซีย โอมาน ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า เป็นเพราะประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำจิวเวลรี่ มีช่างฝีมือดี และรัฐบาลยังให้การสนับสนุนผู้ส่งออก
ทายาทรุ่นที่ 4 บอกว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของ "หินสี" ที่สำคัญ โมอาว็าดจึงมาตั้งฐานการผลิตที่กรุงเทพฯ เพราะวัตถุดิบประเภทอัญมณีส่วนใหญ่ได้จากประเทศในเอเชีย อย่าง เวียดนาม พม่า ศรีลังกา ไทย นอกจากนี้ก็ยังมีที่ได้มาจากอัฟกานิสถาน โคลอมเบีย บางเม็ดก็มาจากแอฟริกา
"ถ้าเป็นเพชรจะมาจากพ่อค้าที่เชื่อถือได้ และต้องไม่ใช่ "ไดมอนด์ บลัด" (Diamond Blood- เพชรที่ได้จากกระบวนการค้าที่ผิดกฎหมาย หรือใช้แรงงานโหด) ส่วนพลอยนั้นต้องแล้วแต่ว่ามาจากประเทศไหน ซึ่งพลอยในประเทศไทยปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว แต่จะมาจากประเทศรอบๆ เช่น พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา ฯลฯ ที่ส่งเข้ามาไทย แม้กระทั่งมรกตที่สวยที่สุดตอนนี้จะเป็นมรกตจากโคลัมเบีย แต่ก็มีจากแอฟริกา"
ส่วนเรื่องการเปิดช็อปในเมืองไทย เฟรดบอกว่า มองหาสถานที่เหมาะๆ อยู่หลายปีแต่ยังไม่ได้ที่ถูกใจ
"ทุกวันนี้พลอยหายากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไทยมีคือ ความสามารถในการเผาพลอยที่ไทยมีทั้งความเชี่ยวชำนาญ และมีโนว์ฮาว ทำให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญของโลกอยู่ดี" เฟรดบอก
ขณะที่ เคนเนธ สคาร์แรทท์ กก.ผอ.จีไอเอ ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยและตรวจวิเคราะห์อัญมณี จีไอเอ สำนักงานประเทศไทย ผู้ตรวจสอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ บอกว่า "นี่เป็นเหตุผลเดียวกับจีไอเอ มาเปิดแล็บเพื่อตรวจวิเคราะห์อัญมณีในเมืองไทย เพราะเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญของโลก"
เฟรดเสริมอีกว่า การที่มี "จีไอเอ" ที่ประเทศไทยเป็นผลดีกับโมอาว็าดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพมากขึ้น
เมื่อลูกค้าไม่แน่ใจในอัญมณีเม็ดนั้นๆ ก็สามารถส่งเข้าไปตรวจวิเคราะห์ที่ "จีไอเอ" ได้เลย
www.matichon.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น