วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไม่บ่อยครั้งนักที่มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารชาวต่างชาติในธุรกิจประกันสุขภาพ ยิ่งเป็นบริษัทติดอันดับ...

ไม่บ่อยครั้งนักที่มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารชาวต่างชาติในธุรกิจประกันสุขภาพ ยิ่งเป็นบริษัทติดอันดับ 129 จากการจัดอันดับของฟอร์จูน 500 ด้วยแล้ว

มียอดขายเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ

มีพนักงานกว่า 30,000 คน

มีลูกค้ากว่า 70 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 1 ล้านแห่งทั่วโลก ที่พร้อมจะให้บริการลูกค้า ซึ่งไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก หากมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ลูกค้าผู้นั้นจะสามารถเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ได้ทันที

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ให้ความสนใจ แต่สิ่งที่ "ประชาชาติธุรกิจ" สนใจคือ ซิกน่า ประเทศไทยที่อยู่ภายใต้บริษัท ซิกน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มี "เคนเนธ วอห์น" กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นผู้ดูแล เขามีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร

เขามองเรื่อง "คน" ในธุรกิจประกันสุขภาพอย่างไรบ้าง ?

เขามองเรื่องการสร้างกลุ่มทาเลนต์ในองค์กรอย่างไร ?

เพราะอย่างที่ทราบ ธุรกิจประกัน พนักงานขายล้วนเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างธุรกิจ แต่สำหรับมุมมองของ "เคนเนธ วอห์น" กลับไม่ได้มองเท่านั้น

เขากลับมองเรื่องการให้โอกาส มองเรื่องการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง รวมถึงความท้าทายต่อการทำงานในอนาคต

ที่ไม่เฉพาะเขาเพียงคนเดียว หากเป็นพนักงานของเขาทั้งหมด

แล้วต้องลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขา แล้วจะรู้ว่าทำไมเขาจึงเชื่อว่าพนักงานชาวไทยมีศักยภาพน่าสนใจประเทศหนึ่ง

- ลักษณะของพนักงานที่ทำงานธุรกิจประกันสุขภาพจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ต้องดูแลลูกค้า และต้องทำงานรวดเร็ว ทั้งยังต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และไม่เห็นกับความเหน็ดเหนื่อย แต่กระนั้น ต้องมาดูอีกทีว่าพนักงานแต่ละแผนกจะต้องมีความโดดเด่นอย่างไรบ้าง เหมือนอย่างฝ่ายขาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องเก่งบัญชี แต่จะต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านงานขายอย่างเป็นเลิศ

- พนักงานประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ที่คุณดูแลแตกต่างกันไหม

ซิกน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น เพราะเราเข้ามาประเทศไทยเพียง 6 ปีเอง แต่เราพยายามทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น เพื่อดูแลลูกค้าทั้งกลุ่ม ไม่ใช่ดูแลลูกค้า

เพียงรายเดียว ดังนั้น การจ้างพนักงานแต่ละคน เราจึงอยากให้พนักงานมีความคิดแบบสากล รวมถึงการจ้างพนักงานท้องถิ่น เขาจะต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนแถบประเทศนั้น

อย่างดี เพราะอย่าลืมว่าแต่ละประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี

อีกอย่างพนักงานของเราต้องทำงานสัมพันธ์กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของประเทศเหล่านั้น เพราะเขาเป็นลูกค้าของเรา ดังนั้น คนของเราก็จะต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของเขาด้วย

แต่จากประสบการณ์ที่ผมทำงานในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศก่อนที่จะย้ายมาอยู่เซี่ยงไฮ้ ผมมีความรู้สึกว่าพนักงานในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยจะเทกแคร์ลูกค้าดีว่าคนยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา และผมภูมิใจในพนักงานเหล่านี้มาก

ถามว่าผมดูจากอะไร ก็ดูจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากปี 2553 ซิกน่าฯ ประเทศไทยเติบโตกว่า 35% ทั้งยังสร้างรายได้ให้มีการอัตราการเติบโตกว่า 70% ตรงนี้คือคำตอบที่เป็นรูปธรรม

- คุณจะสร้างความแตกต่างในธุรกิจประกันได้อย่างไรเพราะบริษัทประกันในเมืองไทยก็มีเยอะ แถมพนักงานของเขายังเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของประเทศไทยดีกว่าคุณ

ผมยอมรับว่าเรามีคู่แข่งอยู่มากมาย และคู่แข่งเหล่านั้นก็มีความชำนาญในธุรกิจตัวเอง แต่สัญญาที่เราให้กับลูกค้าคือความสะดวกในการบริการทางการแพทย์ เพราะเรามีไลเซนส์กว่า 30 บริษัท ขณะเดียวกัน เราก็มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 1 ล้านแห่งทั่วโลกเรามีลูกค้าในเครือกว่า 70 ล้านคน มีพนักงานกว่า 30,000 คนทั่วโลก เฉพาะเอเชีย-แปซิฟิก ซิกน่า คอร์ปอเรชั่น มีพนักงาน 3,000 กว่าคนที่ผมดูแล ทั้งธุรกิจของเรายังอยู่ในอันดับที่ 129 จากการจัดอันดับของฟอร์จูน 500 ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าเรามีจุดที่แตกต่าง ซึ่งคู่แข่งของเราไม่มี

อีกอย่างธุรกิจที่เราให้บริการในประเทศไทย เราเปิดตัวกรมธรรม์ประกันสุขภาพกลุ่ม สำหรับพนักงานชาวไทยที่ไปทำงานระหว่างประเทศ หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และนี่คือจุดแตกต่างอีกอันหนึ่ง

- อย่างนี้พนักงานของคุณต้องมีกลุ่มทาเลนต์เยอะใช่ไหม

ตอนนี้เรามีทาเลนต์ที่ดีที่สุดแล้ว แต่หน้าที่ของผม เรายังอยากจะไปเจอทาเลนต์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท หรือพนักงานจากองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจประกัน

- พนักงานในเอเชีย-แปซิฟิก ที่คุณดูแล สามารถย้ายไปทำงานประเทศอื่นได้ไหม

แน่นอน สามารถทำได้อยู่แล้ว และไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น ถ้าศักยภาพเขาถึง เขาสามารถไปทำงานได้ทุกทวีปที่มีสาขาอยู่

เพราะทุกปี เราจะคุยกับพนักงานตลอด ว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมกับถามพนักงานทุกครั้งว่าใครมีความคิดจะโยกย้ายงานไปทำประเทศอื่นบ้างไหม

- คนเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ส่วนมากแล้วแต่ ถ้าจะดูเรื่องการขาย พนักงานของเราจะย้ายไปในถิ่นที่เราไม่เคยไปทำงาน และคนนั้นจะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่สามารถบริหารจัดการได้ในทุก ๆ ระดับขององค์กร

- ความท้าทายในธุรกิจประกันอยู่ตรงไหน

ความท้าทายของผม คือการสร้างองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกให้ใหญ่โต และมีกำไรเยอะที่สุด เพราะเป้าหมายของผม คือถ้านายสั่งมาอย่างหนึ่ง ผมจะต้องทำให้ดีกว่าที่นายสั่ง แต่สำหรับเป้าหมายส่วนตัว คนที่จะมาแทนผม จะต้องมาจากคนในองค์กรของเราเอง ไม่ใช่มาจากที่อื่น ตรงนี้เป็นความท้าทายของผม

- แล้วมีการวางแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างไรบ้าง

มีแน่นอนอยู่แล้ว แต่จะให้บอกว่าใครนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะเป็นความลับขององค์กร แต่ผมและผู้บริหารระดับสูงประชุมกันทุก ๆ 3 เดือน ว่าใครเป็นทาเลนต์ที่จะมาทำงานตรงนี้ต่อได้ และไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งผมเท่านั้น แต่ทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใหญ่ รวมไปถึงระดับทวีป ระดับประเทศที่เขาจะต้องไปดูแล และบริหารจัดการ ผมต้องสร้างคนของเราขึ้นมา เพราะเชื่อว่าคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิต หรือจะต้องไปอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่า เขาจะต้องมีบันไดแห่งความสำเร็จที่จะต้องก้าวทีละก้าว โดยมีหัวหน้า หรือนายเป็นผู้มอง และสร้างเขาขึ้นมา เหมือนหน้าที่ผมที่นี้เพื่อสร้างให้

ซิกน่าฯ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จ ทั้งยอดขาย ผลกำไร และให้โอกาสพนักงานของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นไป

นี่คือความท้าทายของผมอีกประการ

www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม