วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คนวัยหนุ่มสาวไม่ค่อยคำนึงถึงโรคที่เกิดจากการทำงานมากนัก...

คนวัยหนุ่มสาวไม่ค่อยคำนึงถึงโรคที่เกิดจากการทำงานมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคได้หลายชนิด อีกทั้งโรคบางอย่างจะไม่ปรากฏอาการจนกว่าเวลาจะล่วงเลยไป 20-30 ปี โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจากสารปนเปื้อนที่มองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้ จึงไม่มีใครให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันตนเองจากภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ภัยที่เกิดจากการทำงานนอกจากจะต้องระมัดระวังในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแล้ว สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานก็สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นผงฟุ้งกระจาย เช่น สิ่งทอ เหมือง โรงโม่ และก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินซึ่งมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดเป็นส่วนประกอบ

แร่ใยหินหรือแอสเบสทอส (Asbestos) เป็นแร่ธรรมชาติที่ปนอยู่ในเนื้อหิน มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด มีคุณสมบัติพิเศษคือ ทนไฟ ทนความร้อน ไม่นำความร้อนและไฟฟ้า มีความแข็งเหนียวและยืดหยุ่น สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นและทอเป็นผืนได้ ทนกรดและด่างได้ดี จึงถูกนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ มาช้านาน โดยในแต่ละปีไทยนำเข้าแร่ใยหินขาวชนิดไครโซไทล์ เฉลี่ย 1.5 แสนตันต่อปี มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อุตสาหกรรมที่นำแร่ใยหินมาใช้เป็นวัตถุดิบมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเบรกและคลัตช์ อุตสาหกรรมผลิตท่อน้ำ ใช้ในงานก่อสร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บ่อยและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ คือวัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านเริ่มตั้งแต่ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน-ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน และยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านอีก เช่น เครื่องเป่าผม เครื่องปิ้งขนมปัง สายเตารีด ผลิตภัณฑ์จำพวกแป้ง เครื่องสำอางที่ใช้เพื่อลดความอับชื้น ซึ่งหากวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเกิดความชำรุดเสียหายจะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของเส้นใยแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด และโรคอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด คือ โรคปอดอักเสบ น้ำในเยื่อหุ้มปอด เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หากมีการหายใจเอาฝุ่นผงที่มีการปนเปื้อนแร่ใยหินเข้าไป รวมถึงการดื่มน้ำหรืออาหารที่มีการปนเปื้อนแร่ใยหินด้วย

สำหรับการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสถานที่ก่อสร้าง หรือสถานที่ที่มีการรื้อถอน ดูแลบ้านพักอาศัยรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพปกติ ที่สำคัญเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ให้ดี หากผู้ผลิตหรือนำเข้าไม่มีการติดฉลากถือว่ากระทำผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย ปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การบังคับติดฉลากอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินได้

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานอย่างจริงจัง เนื่องใน "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี โดยเรียกร้องให้มีการติดป้ายฉลากบอกว่าสินค้าชนิดใดบ้างที่มีส่วนผสมของแร่ชนิดนี้ และต้องเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างหันมาตระหนักถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตคนหมู่มาก และให้รัฐบาลยกเลิกการผลิตและนำเข้าแร่ใยหินเข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาด

"สิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้ รัฐบาลควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกการผลิต/นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและหันมาให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันและดูแลตนเองจากอันตรายของแร่ใยหินที่มีใช้ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากประเทศไทยยังขาดบุคลากร รวมทั้งจำนวนแพทย์พยาบาลด้านชีวอนามัยที่จะมาวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงาน และวิศวกรเพื่อความปลอดภัยในที่ทำงาน ด้านกระทรวงแรงงานควรจะมีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น โดยมีกรรมการจากภาคประชาชนเข้าไปทำงานร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่การตั้งศูนย์ร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างจริงจัง" บุญสม สีคำดอกแค ผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานและเป็นหนึ่งในสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าว



www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม