เวลาที่เราเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย เรามักจะแวะเข้าไปกราบไหว้ขอพรจาก ศาลหลักเมืองของจังหวัดนั้นๆ แต่สำหรับท่านที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ หากถามหาเสาหลักเมืองแล้วละก็ จะได้รับคำตอบหลายรูปแบบที่อาจทำให้งงไปได้ เพราะศาลหลักเมืองของเชียงใหม่ ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้ากราบไหว้สักการะได้ตามสะดวกเหมือนศาลหลักเมืองในจังหวัดอื่นๆ หากแต่เป็นศาลหรือชาวเชียงใหม่นิยมเรียกว่า "วิหารอินทขิล" ซึ่งจะเปิดให้เข้าไปสักการะได้เฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างช่วงแรม 3 ค่ำ เดือน 8 ถึงขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เพียง 17 วัน ในรอบหนึ่งปีเท่านั้น เวลาส่วนที่เหลือนอกจากนั้นจะปิดไว้ ไม่ให้เข้าไปและไม่สามารถแม้แต่จะมองเห็นได้ สำหรับช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าไปสักการะได้นั้น จะเรียกว่า "ประเพณีใส่อินทขิล" โดยในวันแรกของงานพิธีนี้จะเรียกว่า "เข้าอินทขิล"
ประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีที่มีการพัฒนารูปแบบจากสมัยโบราณเรื่อยมา จนปรากฏดังที่เป็นอยู่ในช่วงปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พญามังรายจะเข้าครอบครอง และสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของพระองค์นั้น
เป็นชนเผ่าลั้วะ ซึ่งนับถือผีเป็นหลัก ไม่นับถือพุทธศาสนา หากเราไปตามหมู่บ้าน หรือชุมชนของชาวลั้วะ จะปรากฏพบเสาผีประจำหมู่บ้าน โดยทำเป็นเสาไม้ต้นใหญ่ปักไว้ กลางหมู่บ้านอาจมีการแกะลายหยาบๆ ที่ปลายเสา เสานี้จะเป็นที่ประกอบพิธีเลี้ยงผีเป็นประจำ ถ้าเป็นการเลี้ยงผีแบบย่อยๆ หรือเพื่อบนบานศาลกล่าว หรือเพื่อให้คลายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถามเรื่องไร่เรื่องนา ก็จะเป็น"เหล้าไห ไก่ตัว" แต่ถ้าเป็นพิธีเลี้ยงผีใหญ่ก็จะทำทุกๆ 3 ปี จะเป็นการ "เลี้ยงควาย" โดยนำควายเป็นๆ มาผูกล่ามไว้กับเสานี้ แล้วทำพิธีเรียกผีมารับมากิน จากนั้นจึงฆ่าควายเพื่อเซ่นไหว้ คล้ายๆ การบูชายัญ
สาเหตุที่เรียก เสาอินทขิล ก็เพราะตามตำนานกล่าวว่า ชาวลั้วะดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณนี้เลื่อมใสนับถือพระอินทร์ ข้อนี้อย่าเพิ่งสงสัยหรืองงว่าชาวลั้วะนับถือผี แล้วทำไมจึงไปเคารพพระอินทร์นะครับ ผมขอขยายความสักนิดว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาในขณะนั้น คืออาณาจักรพุกามหรือประเทศพม่าในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ยังคงมีการนับถือผีเป็นหลักทั่วไปเช่นเดียวกัน และมีภูตผีมากมายหลายตนที่ถูกยกขึ้นเคารพบูชา และในช่วงราวปี พ.ศ.1587-1620 ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าอนิรุทธหรือคนไทยชอบเรียกว่าพระเจ้าอโนรธาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองพุกาม ได้ทรงยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาหลักของพุกาม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่โปรดที่จะขัดขวางความเชื่อดั้งเดิมของประชาชน ได้โปรดให้รวบรวมบรรดาภูตผีทั้งหมดที่ชาวพุกามนับถือในขณะนั้นเข้าไว้ด้วยกัน และได้ทรงถวายให้พระอินทร์อันเป็นเทพสูงสุดในพระพุทธศาสนาเป็นองค์ประธาน หรือหัวหน้าผีทั้งปวงของพุกามที่เรียกกันว่า ผีแนต ดังนั้นอิทธิพลการนับถือผีของชาวล้านนาที่มีพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าผี จึงเผยแผ่มายังเมืองเชียงใหม่ รวมถึงประเพณีการฟ้อนผีที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบันด้วย
นี่คือเหตุผลที่ชาวลั้วะนับถือพระอินทร์ครับ จากนั้นตำนานก็เล่าต่อไปว่า พระอินทร์ประทานพรให้ชาวลั้วะด้วยการให้บ่อทอง บ่อเงิน บ่อแก้วแก่ชาวลั้วะทั้ง 9 ตระกูล สร้างความมั่งคั่งจนเป็นที่อิจฉาของเมืองอื่นๆ จนถึงกับยกกองทัพมาโจมตี ชาวลั้วะขอพรจากพระอินทร์อีกครั้ง พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ขุดอินทขิลหรือเสาตะปูเหล็กของพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กนำลงมาฝังไว้ที่กลางเมืองนี้ ด้วยอิทธิพลังแห่งอินทขิล จึงบันดาลให้เหล่าศัตรูกลายเป็นมิตร เป็นพ่อค้า และเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดให้ทุกคนต้องมีศีลต้องมีธรรม ครั้นเมื่อมีผู้คนพลเมืองมากขึ้น ก็เริ่มมีคนที่ทุศีลปะปน ทำให้กุมภัณฑ์ทั้งสองตนโกรธและขุดเอาอินทขิลกลับคืนขึ้นสวรรค์ไป บ้านเมืองจึงเสื่อมถอยลง จากนั้นจึงมีพระเถระแนะนำให้ชาวลั้วะหล่อกระทะใหญ่แล้วนำรูปปั้นชายหญิงอย่างละคู่ของคน 101 ภาษา ใส่ลงในกระทะนั้น แล้วจึงเอาลงฝังใต้ดินแทนอินทขิลของพระอินทร์ที่กุมภัณฑ์นำกลับคืนไป แล้วให้ก่อเสาอินทขิลขึ้นเหนือที่ฝังกระทะนั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชา บ้านเมืองจะได้สงบสุขร่มเย็น พ้นภัยพิบัติ
เชื่อกันว่าเมื่อพญามังรายสถาปนาเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ขึ้น ในปี พ.ศ.1839 นั้น ได้ทรง 'ปรองดอง' และ 'อะลุ้มอล่วย' กับชาวเผ่าลั้วะที่เป็นเจ้าของถิ่นเดิมอย่างมาก รวมทั้งทรงผนวกการนับถือผีกับการนับถือพุทธเข้าด้วยกัน โดยทรงตั้งเสาผีประจำเมืองขึ้น ในพื้นที่ของวัดที่อยู่กลางเมืองเชียงใหม่ คือวัดสะดือเมืองหรือวัดอินทขิล ปัจจุบันเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่บริเวณหอประชุมติโลกราช ใกล้ๆ กับศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม เมื่อประมาณกว่า 30 ปีมาแล้ว ยังปรากฏต้นยางขนาดใหญ่ยักษ์อันเป็นเสมือนไม้หมายเมืองของเชียงใหม่ตั้งตระหง่านอยู่ แต่จู่ๆ ต่อมาก็ถูกตัดลงและใช้พื้นที่บริเวณรอบๆ โคนต้นทำเป็นลานจอดรถยนต์ โดยลาดยางมะตอยเต็มกลบพื้นที่เดิม แต่ส่วนตอรากของต้นยางหลวงนั้นใหญ่มาก ต้องใช้วิธีสุมไฟเผาตออยู่ร่วมปี จากนั้นจึงใช้รถแทร็กเตอร์ไถออก ผมได้ถ่ายรูปตอรากของต้นยางหลวงนั้นไว้ด้วย หากวันไหนค้นเจอจะนำมาลงไว้ให้ชมกันครับ
กล่าวกันว่าเสาอินทขิลดั้งเดิมที่หล่อด้วยโลหะ ถูกย้ายไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง ในช่วงรัชกาลของเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ.2343 ต่อมามีการบูรณะอีกหลายครั้ง จนสภาพเสาที่เห็นในปัจจุบันกลายเป็นเสาปูนโผล่สูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ตกแต่งด้วยกระจกสีฝีมือช่างพื้นเมือง เหนือเสานี้ขึ้นไปจึงเป็นบุษบก สูงประมาณเกือบ 1 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ปางรำพึง นับเป็นเสาหลักเมืองที่แปลกที่สุดแบบหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
ประเพณีการสักการะบูชาเสาอินทขิล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน ยังคงใช้เครื่องสักการะบูชาตามแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยข้าวตอก ดอกไม้ เทียน รวม 8 สวย (กรวย) พลู 8 สวย (กรวย) ดอกไม้เงิน 1 ช่อ ผ้าขาว 1 รำ (ผืนพับ) ช่อขาว 8 ผืน (ตุงขาว) มะพร้าว 2 แขนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 เล่ม (ท่อน) ข้าว 4 ควัก (กระทง) แกงส้ม แกงหวาน อย่างละ 4 ชนิด โภชนะอาหาร 7 อย่าง ใส่ขันบูชา เครื่องสักการะบูชาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี เป็น 'ตั้งขัน' ถวายเป็นพลีทุกปีไม่มีขาด นอกจากนั้นก็มีน้ำขมิ้นส้มป่อย สวยดอก (กรวยดอกไม้) เป็นเครื่องประกอบ
ประเพณีการใส่อินทขิลของชาวเชียงใหม่ในปีนี้ มีขึ้นในระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคมครับ ท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปใส่อินทขิลในปีนี้ คงต้องรอไปปีหน้าเลยนะครับ ประเพณีดีดีแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์และช่วยกันดูแลให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม และช่วยกันถ่ายทอดให้บุตรหลานของท่านได้มีโอกาสรับรู้และเข้าใจด้วย ก่อนที่จะไม่เหลือประเพณีไทยให้คนไทยได้ปฏิบัติเลยครับ
เผ่าทอง ทองเจือ
HYPERLINK "http://www.facebook.com/paothong.pan"www.facebook.com/paothong.pan
HYPERLINK "http://www.facebook.com/paothong.thongchua"www.facebook.com/paothong.thongchua
www.thairath.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น