วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่มาไม่นาน...

หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่มาไม่นาน และยังได้ตื่นตระหนกกับข่าวคราวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติอยู่เนื่องๆ รวมทั้งปัญหาโลกร้อน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจและหาหนทางในการคิดและเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะสม และยั่งยืนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของหัวข้อในการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนครั้งที่ 7 "คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

วิทยาศาสตร์นั้นจัดได้ว่า เป็นรากฐานของเทคโนโลยี ของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น วิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของการใช้ชีวิต หัวใจสำคัญของงานนี้คือ เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่มีใจรักในวิทยาศาสตร์ ได้เผยแพร่แนวคิดและผลงานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่และเยาวชนวิทย์รุ่นน้อง เพื่อต่อยอดความคิดและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต และที่สำคัญ หัวข้อการจัดงานในปีนี้ เน้นการให้ "เยาวชนได้คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ" เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ รวมถึงเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างยั่งยืน

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ภาคการนาเสนอโครงงานวิจัยของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบการบรรยายและแบบโปสเตอร์ในสาขาต่างๆ ได้แก่ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และธรณีวิทยา นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ซึ่งมีผลงานวิจัยเด่นๆ ของนักวิทยาศาสตร์ไทยมากมายหลายผลงาน ที่สะท้อนถึงความพยายามตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยั่งยืน อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน กระสอบทรายนาโน อุปกรณ์วัดระดับน้ำและความแรงของน้ำไหล ฯลฯ

การนาเสนอโครงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในแบบบรรยายและโปสเตอร์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยต่างๆ มีการน้ำเสนอที่หลากหลายมากกว่า 200 โครงงาน ซึ่งความพิเศษในการนำเสนอผลงานที่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาคือ จัดให้มีการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารงานวิจัยเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งมีเยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เกาหลี และเวียดนาม ให้ความสนใจเข้าร่วมนำเสนอโครงงานวิจัยด้วยเช่นกัน

น้องสตังค์ หรือพลเดช อนันชัย นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมนำเสนอโครงงานวิจัย "การพัฒนาวิธีทางเคมีในการสังเคราะห์วัสดุที่สามารถเปลี่ยนความร้อนส่วนเกินเป็นไฟฟ้า" ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการได้รับโอกาสไปร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เยอรมนีในฐานะทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม การทำโครงงานวิจัยนี้ เป็นการออกแบบอุปกรณ์ในการดักจับพลังงานความร้อนส่วนเกินจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานความร้อนจากร่างกายมนุษย์ พลังงานความร้อนที่เกิดจากเครื่องยนต์ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยใช้สารกึ่งตัวนำความร้อนเรียกว่า บิสมัธ เทลลูไรต์ ที่มีการพัฒนาให้มีอนุภาคในระดับนาโนเมตร และผ่านการสังเคราะห์ให้มีความบริสุทธิ์มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากขึ้น ถึงแม้ขณะนี้จะสามารถดักจับความร้อนได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ก็จะยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงงานวิจัยนี้ต่อไป เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ

นายกิตติ บุญเพิ่ม และนายภัทร โคมกระจ่าง สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำผลงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาระบบตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองการเกิดดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์" มาจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หลักการคือ ใช้วิธีเจาะเลือดมารดาที่ตั้งครรภ์เพื่อนำมาวัดค่าความผิดปกติของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ AFP estriol และ HCG ซึ่งผลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมเบื้องต้น หากพบความผิดปกติ จึงใช้วิธีเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมอีกครั้งหนึ่ง

"วิธีการนี้จะช่วยให้สามารถคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ได้มากขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดที่ถูกกว่า และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากวิธีตรวจวัดโครโมโซม เพราะวิธีดังกล่าวอาจทำให้แท้งบุตรได้ โดยพวกเรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะทางานวิจัยนี้ให้สำเร็จ เพราะนั่นหมายความว่า จะมีการผลิตและนำส่งเครื่องมือดังกล่าวไปยังโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้หญิงตั้งครรภ์ในต่างจังหวัดได้เข้าถึงบริการคัดกรองก่อนเจาะโครโมโซม ซึ่งช่วยลดภาวะดาวน์ซินโดรมของเด็กเกิดใหม่ในประเทศ"

ในส่วนของภาคการเสวนาและบรรยายทางวิชาการ มีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันประลองความคิดทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างมากมาย อาทิ กิจกรรมการประดิษฐ์กังหันพลังงานลม กิจกรรม "Nightmare Science Math Rally" เพื่อเปิดให้โอกาสให้น้องๆ ได้แข่งขันแก้ปัญหาโดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ไฮไลท์ของงานอีกหนึ่งกิจกรรมคือ การจำลองการแข่งขัน "มินิวิทยสัประยุทธ์" ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ได้ตั้งโจทย์ให้น้องๆ แข่งขัน "ประดิษฐ์เครื่องยิงลูกบอล" ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย และเพิ่มความท้าทายให้ต้องออกแบบอุปกรณ์หน่วงเวลา เพื่อให้เครื่องสามารถยิงลูกบอลได้ตามระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้น้องๆ ได้ผสมผสานทั้งทักษะทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ในการคิดค้นคาตอบ เช่น การปรับแต่งลูกบอลเพื่อเพิ่มน้ำหนักและแรงต้าน การคำนวณองศาของการยิง การคำนวณระยะทางและแรงส่ง การใช้กลไกแรงเสียดทานเพื่อเพิ่มการหน่วงเวลา ซึ่งจบลงด้วยการที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี 2) คว้าแชมป์การแข่งขันมินิวิทยสับประยุทธ์ในปีนี้ไปครอง

สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ฮังซุง ไซเอนซ์ จากประเทศเกาหลีใต้ และโรงเรียนมัธยมศึกษา เดว ดัง ตุ จากประเทศเวียดนาม ซึ่งได้เข้าร่วมงาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 โดยได้นำเสนอผลงานวิจัยของนักเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมมินิวิทยสัประยุทธ์ โดยอาจารย์ ชอย บุง ชุน โรงเรียน ฮังซุง ไซเอนซ์ กล่าวว่า "รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ และประทับใจกับผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยมาก เป็นงานที่สามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับวันนี้เราได้นำนักเรียนมานำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ในสาขาวิชาชีววิทยาในด้านการสกัดสารจากใบแปะก๊วย และเข้าร่วมแข่งขันมินิวิทยสัประยุทธ์ ทำให้ได้รับประสบการณ์และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนต่างๆ"

อาจารย์ เนียน ที เบียน เดียบ โรงเรียนมัธยมศึกษา เดว ดัง ตุ จากประเทศเวียดนาม กล่าวว่า "เราได้มาร่วมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจอย่างมากกับผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย โดยเราได้นำผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ในสาขาวิชาฟิสิกส์ เรื่อง การประหยัดพลังงาน โดยการทำโคมไฟอย่างง่ายจากกล่องไอศกรีม พร้อมทั้งได้เข้าร่วมการแข่งขันมินิวิทยสัประยุทธ์กับโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย ทำให้ได้ประสบการณ์อย่างมาก"

เมื่อพิจารณาจากผลงานวิจัยของเยาวชนไทยที่นาเสนอในงานนี้ รวมทั้งความตื่นตัว ความสนในของเยาวชนที่เข้ามาร่วมชมงานตั้งแต่รุ่นเด็กเล็ก เด็กโต นิสิต นักศึกษาแล้ว นับว่างาน วทท.เพื่อเยาวชนครั้งที่ 7 นี้ เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยจุดประกายสังคมให้มองเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และหันมาสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชนให้สนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อผลักดันไปสู่การสร้างนักวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทย และยังเป็นวิชาชีพเฉพาะด้านที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่มากในอนาคต



www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม