วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สารคดีประวัติศาสตร์ "พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา"

วันที่ ดร.อำนวย วีรวรรณ เปิดตัวหนังสือชื่อ "พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา" ในวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย หลายคนก็อยากรู้ว่า ดร.อำนวยจะถ่ายทอดเรื่องราวพระมหากษัตริย์ไทย ว่าทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างไรมาให้เราได้อ่าน ผลก็เป็นอย่างที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ดร.อำนวยพาเราไปเรียนรู้บทบาทและพระราชกิจในการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาของกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, ล้านนา, อยุธยา, ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
นี่คือหนังสือสารคดีประวัติศาสตร์ชั้นดี ที่เชื่อมโยงความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงไม่เหมือนกับผลงานวิชาการในเล่มไหนๆ ที่สำคัญได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ จัดพิมพ์เผยแพร่ถึง 92,000 เล่ม ไว้เป็นวิทยาทานส่งต่อความรู้แก่สาธารณชน
วันเปิดตัวหนังสือ ดร.อำนวย วีรวรรณ ผู้ริเริ่มจัดทำหนังสือเล่าที่มาให้ฟังว่า กว่า 10 ปีมาแล้ว มีโอกาสไปเยือนถ้ำอชันตา และถ้ำเอลโลรา เมืองออรังคบาด รัฐมหาราษฏระ ของประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเป็นที่ประกอบศาสนกิจในพระพุทธศาสนาเมื่อสมัย 200 ปีก่อนคริสตกาล เห็นร่องรอยความเจริญของพุทธศาสนาในยุคสมัยนั้น รู้สึกฉงนใจว่า เพราะเหตุใดพระพุทธศาสนาซึ่งถือกำเนิดเจริญรุ่งเรืองในอินเดีย และเผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ศรีลังกา ลาว กัมพูชา และที่สุดพระพุทธศาสนามาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในไทย โดยประชากรกว่าร้อยละ 90 เป็นพุทธศาสนิกชน มีวัดกว่า 40,000 แห่ง และพระภิกษุสงฆ์กว่า 250,000 รูป ตนใฝ่หาความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม อยากเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์
สำหรับหนังสือสารคดีเล่มนี้เป็นผลจากการทำงานค้นคว้าวิจัย เพื่อตอบคำถามว่า "เหตุใดพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความรุ่งเรืองไพบูลย์ที่สุดในประเทศไทย" ดร.อำนวย ผู้มีดำริจัดทำหนังสือระบุว่า เนื้อหางานวิจัยจัดทำกลางปี 2554 โดยทีมงานของ ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย จนกระทั่งปลายปีนั้นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 18 ท่าน ได้ตรวจสอบร่างและปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ อาทิ อาสา สารสิน, ดร.อานันท์ ปันยารชุน, ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, เมตตา อุทกะพันธุ์ รวมถึง ดร.ดินาร์ บุญธรรม ที่เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้
ผลงานที่ออกมาดีกว่าที่คาดฝันและจะเกิดประโยชน์มาก ทั้งยังได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญภาพถ่ายจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ลงพิมพ์บนปกหน้าและในหนังสือเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง นอกจากนี้ ศิลปินแห่งชาติร่วมวาดภาพประกอบให้หนังสือด้วย คือ ถวัลย์ ดัชนี, กมล ทัศนาญชลี, ประเทือง เอมเจริญ, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ รวมถึงศิลปินมีชื่อ ปัญญา วิจินธนสาร และพิษณุ ศุภนิมิตร
ดร.อำนวยกล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 700 ปีมาแล้ว นับแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงจนถึงรัชกาลที่ 9 ในปัจจุบัน กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีบทบาทสนับสนุนพุทธศาสนาทั้ง 4 มิติ คือ ศาสนาธรรม คำสอน ศาสนวัตถุ วัดวาอาราม และศาสนพิธี สมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงเน้นศาสนาธรรม สมัยอยุธยาเน้นศาสนวัตถุ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบพุทธศิลป์ยุคต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งศาสนาจะรุ่งเรืองหรือล่มสลายเกิดจากการอุปถัมภ์บำรุงของพระมหากษัตริย์
"เป็นหนังสือที่มีคุณค่าในประวัติศาสตร์ เป็นเล่มที่ผมภาคภูมิใจที่สุด และที่สำคัญเราต้องการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ด้วยวิตกกังวลกับข่าวมีกระบวนการไม่หวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ เล่มนี้ช่วยให้ประชาชนยึดมั่นและศรัทธาสถาบันให้ยั่งยืนตลอดไป หากได้ผลตามเจตนารมณ์ไม่มากก็น้อยก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ แล้วก็อยากให้ลูกหลานไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้" ดร.อำนวยเผยว่าชื่นใจกับหนังสือที่สุด
ดร.อำนวยเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมจะพิมพ์เผยแพร่ 50,000 เล่ม เป็นเงินส่วนตัวทั้งงานวิจัยและจัดพิมพ์ เมื่อมีผู้ทราบเจตนารมณ์ที่ต้องการให้คนไทยเข้าใจถึงความเจริญของชาติที่เกิดจากความเข้มแข็งของสองสถาบันหลัก จึงมีองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ยื่นมือสนับสนุนด้านการพิมพ์รวม 92,000 เล่ม เป็นสถิติการพิมพ์สารคดีสูงสุด ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่จำหน่าย แต่แจกเป็นวิทยาทาน หวังจะถึงมือผู้สนใจ ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา การจัดพิมพ์ครั้งต่อไปมอบให้บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา
ขณะที่ ดร.ดินาร์ บุญธรรม ผู้เขียนบอกถึงการค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ว่า จริงแล้วมีงานค้นคว้าและเขียนเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในการอุปถัมภ์พุทธศาสนาปรากฏในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ตำรา งานวิจัย บทความทางวิชาการ บทสารคดี และข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งภิกษุสงฆ์และนักวิชาการฆราวาสทำไว้ แต่ยังขาดมิติต่อเนื่องตอบคำถามเชิงวิชาการประวัติศาสตร์
"ผมนำข้อมูลมากมายมาจัดระบบ รวมทั้งวิเคราะห์วิพากษ์เชิงวิชาการ ทำให้เห็นมิติของวิวัฒนาการพระพุทธศาสนาในไทย และมิติบทบาททำนุบำรุงพุทธศาสนาของกษัตริย์ อ่านแล้วเห็นภาพว่ามีมาตั้งแต่รวมตัวกันเป็นประชาคมคนไทยในรูปแบบรัฐ อาณาจักร คือสุโขทัยและล้านนา จริงแล้วพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองก่อนประชารัฐ แต่กษัตริย์ล้านนาไทยเป็นผู้รับมรดกทางพุทธศาสนา และสนับสนุนเรื่อยมาถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี จนรัชกาลปัจจุบัน"
ผู้เขียนคาดหวังให้ผู้อ่านได้รู้จักความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานคือ ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาอันกษัตริย์ไทยทรงอุปถัมภ์ จนพุทธศาสนาสามารถแทรกซึมเป็นความเชื่อและศรัทธาหลักของคนในสังคมไทย หวังเห็นคนยุคนี้รู้จักรากอารยธรรม
ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวในกิจกรรมเสวนาของงานเปิดตัวหนังสือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธที่แท้จริง พระองค์เป็นศาสนบุคคล ตนเห็นการปฏิบัติพระองค์ตามคำสอนพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด ที่ตำหนักจิตรลดาคล้ายวัดยังเรียก 'วัดจิตรลดาวรรณาราม' เพราะในหลวงทรงปฏิบัติธรรม แม้ทรงผนวชระยะเวลาสั้น 15 วัน แต่เพียงพอที่จะทรงศึกษาและปฏิบัติต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเหตุให้ข้าราชบริพารและข้าราชการรวมถึงตน ได้ปฏิวัติตัวเองถือศีลปฏิบัติธรรมตั้งแต่เข้าวังจนวันนี้ หากได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับพุทธศาสนา เคยตรัสหากเห็นประทับอยู่นิ่ง พระองค์ทรงนับกำกับลมหายใจ 1 เข้า 1 ออก ด้วยพลังสมาธิ เวลาทรงงานจะจดจ่อกับพระราชกรณียกิจต่อเนื่อง
"ประชาชนสามารถทำนุบำรุงพุทธศาสนา นอกจากรู้ความสำคัญและกราบไหว้บูชา ต้องปฏิบัติบูชาทางศาสนา ถือศีล 5 ซึ่งตลอด 62 ปีทรงครองราชย์พิสูจน์แล้ว ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ดำรงพระชนม์ชีพอย่างพอเพียง โดยสันโดษ คนไทยควรตามรอยพระยุคลบาท หากสองสถาบันคงอยู่ สังคมไทยจะอยู่รอดปลอดภัย" พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวฝาก
ส่วน พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี กล่าวถึงหนังสือสารคดีเล่มนี้ด้วยว่า งามด้วยรูปเล่มสมพระเกียรติ งามรูปเรื่องด้วยเรื่องราวกินเวลากว่า 5,000 ปี ผู้เขียนร้อยเรียงให้จบโดยไม่รุงรัง ทั้งที่ข้อมูลมหาศาล งามรูปรส อ่านเพลิน กลืนคล่อง ไม่ต้องปีนบันไดอ่าน งามด้วยรูปภาพ ฝีมือเหล่าศิลปินแห่งชาติ และสำคัญสุดเจตนารมณ์ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์งดงามหวังประโยชน์สุขต่อประเทศชาติและประชาชน ทำขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับประเทศไทย หากจะให้คนไทยรักและหวงแหนทั้งสองสถาบันต้องให้รู้จักภูมิหลังที่แท้จริง ช่วยกันทำคำอธิบายให้ปรากฏ ซึ่งก็คือบทบาทที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำ จากนี้ต้องทำให้ผลงานถึงมือชาวไทยมากที่สุด.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม