เหลืออีกเพียง 3 ปีนับจากนี้ ประเทศต่างๆ 10 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั่นหมายความถึงจะมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ เงินลงทุน รวมถึงการใช้ฐานการผลิตร่วมกัน ในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีการเตรียมความเพื่อปรับตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการศึกษาไทย หลังจากที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีการหารือให้มหาวิทยาลัยของไทยทั้งหมดต้องเลื่อนการเปิดปิดเทอมให้ตรงกับประชาคมอาเซียน โดยล่าสุดมี 3 มหาวิทยาลัยที่สนใจทดลองจะนำร่องในปี 2555 นี้ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แต่มีเพียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ประกาศเลื่อนการเปิดเทอมออกไปแบบครบวงจรทั้งมหาวิทยาลัยทุกคณะโดยพร้อมเพียงกัน
ผศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า แม้ในที่ประชุม ทปอ. จะมีข้อสรุปให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเริ่มการเลื่อนเปิด ปิดเทอมในปี 2557 แต่คณะกรรมการบริหารของ มจธ. เล็งเห็นว่า หากมหาวิทยาลัยใช้เวลาที่มีอยู่ 2 ปีนี้เริ่มดำเนินการก่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะทำให้ มจธ. มีเวลาในการศึกษาเรียนรู้และปรับตัวมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ
“เราเลื่อนการเปิดเทอมรับประชาคมอาเซียนมาเร็วขึ้น 2 ปี เนื่องจากมหาวิทยาลัยคิดว่าน่าจะใช้ช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ไปเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงจะได้พบข้อผิดพลาดน้อยที่สุด มจธ.ต้องการทำไปเรียนรู้ไป นำประสบการณ์มาใช้ปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจะใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนเดิมที่เป็นอยู่ให้มีคุณภาพมากขึ้น”
นอกจากข้อได้เปรียบในเรื่องการบริหารจัดการการศึกษาที่มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว การเลื่อนเปิดเทอมให้ใกล้เคียงหรือตรงกับประเทศส่วนใหญ่อื่นๆ จะเอื้อประโยชน์ให้การเคลื่อนย้ายเพื่อไปศึกษาชั่วคราวเป็นภาคการศึกษา ในมหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ของนักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างชาติทำได้มีประสิทธิภาพเนื่องจากเรียนได้ครบภาคการศึกษา และการโอนย้ายหน่วยกิตจะสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายทั้งเข้ามา และออกไป ของนักศึกษาไทย และต่างประเทศ ไม่สามารถทำได้ทุกภาคการศึกษา และไม่เหมือนกันทุกประเทศ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนเกิดผลกระทบไม่เต็มที่ บางครั้งนักศึกษาต้องเสียเวลา หรือเสียโอกาสไปในที่สุด
“การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้จะบอกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานร่วมกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าระบบการศึกษาของไทยยังไม่เอื้อ ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการปรับตัวกันเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งรวมถึงประเทศพม่าและไทยที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนการเปิดปิดเทอมแต่อย่างใด ถ้า มจธ. ทำได้ก่อนนักศึกษาของเราก็จะได้รับประโยชน์ก่อนเช่นกัน”
อย่างไรก็ตามการเลื่อนเปิดปิดเทอมที่ไม่ได้ทำพร้อมกันทั้งประเทศนั้นอาจส่งผลกระทบกับนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายบ้าง แต่ในความคิดของตนแล้วกลับมองว่า นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเคยพบ ด้านการจัดการเรียนการสอน และการสอบ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลต่างๆ ให้ไม่มีผลกระทบกับตารางเวลาเรียนของนักศึกษา
“ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ภาคการศึกษาใหม่ของมจธ. เราจะพยายามให้วันหยุดตรงกับการปิดภาคการศึกษา เพื่อไม่ให้เสียเวลากับการสอนชดเชย สำหรับปีการศึกษา 2555 ภาคการศึกษาที่หนึ่งของปริญญาตรี จะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 14 สิงหาคม และสอบวันสุดท้ายของภาคเรียนแรกในวันที่ 14 ธันวาคม (จากเดิมเป็นช่วงเดือนตุลาคม) ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษามีวันปิดเทอมในช่วงคริสมาสต์และปีใหม่พอดี และให้อาจารย์มีเวลาตรวจข้อสอบให้เสร็จก่อนวันหยุดสิ้นปี ในขณะที่การเปิดภาคเรียนที่ 2 จะอยู่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง วันที่ 22 พฤษภาคม โดยจะมีวันหยุดช่วงสั้นๆ 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 16 เมษายน เพื่อให้นักศึกษา และประชาคม มจธ. ได้ใช้เวลากับครอบครัวตามประเพณีไทย”
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา กล่าวด้วยว่า หากนักศึกษาชั้นปี 4 มีความกังวลเรื่องการสำเร็จการศึกษาที่จะล่าช้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ 2 เดือนนั้น มหาวิทยาลัยได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยอาจจะกำหนดให้ภาคเรียนที่สองของนักศึกษาปี 4 เป็นสองช่วง คือ มิถุนายน ถึง กรกฎาคม และ มกราคม ถึง มีนาคม ซึ่งโครงงานสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน แน่นอนการปรับเปลี่ยนต่างๆ ย่อมจะมีปัญหา ซึ่งเราจะต้องทำการแก้ไขเป็นกรณี ๆ ไป
ส่วนกรณีที่นักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังคงกำหนดการเปิดปิดภาคเรียนเหมือนเดิมนั้น ตนเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะ มจธ.ต้องการช่วงเวลาให้นักเรียนมัธยม ได้มีเวลาปรับความพร้อม และเตรียมตัวในการเป็นนักศึกษาอุดมศึกษา การมีเวลา 2 เดือนก่อนเปิดภาคเรียนจริง จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถใช้โอกาสนี้เตรียมนักศึกษาปี 1 ทั้งด้านวิชาการและจิตใจ โดยจะจัดให้มีกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
“ มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษาต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ที่มั่นคง และเพื่อเป็นการรองรับกับประชาคมอาเซียน ภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา มจธ. ดังนั้น มจธ. จะใช้ช่วงเวลาช่วงดังกล่าว เตรียมความพร้อมด้านวิชาการ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องให้แน่นแฟ้น นักเรียนหลายคนมาจากต่างจังหวัดต้องมีการปรับตัวในหลายๆ ด้าน”
ทั้งนี้ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวยืนยันถึงความมั่นใจว่าการเลื่อนเปิดปิดเทอมทั้งมหาวิทยาลัยว่าจะไม่ทำให้มหาวิทยาลัยรู้สึกโดดเดี่ยว แต่จะเป็นข้อได้เปรียบที่ มจธ.ได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมในการวางระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับนักศึกษาไทยและการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของนักศึกษาน้อยที่สุด
“อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่ว่าปรับแล้วต้องปรับเลย ถ้าดำเนินการไปแล้วพบว่ามีปัญหามาก มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อให้นักศึกษาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่ง มจธ.พยายามทำความเข้าใจกับนักศึกษาให้คำนึงถึงโอกาสที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อต้องไปสู่ตลาดแรงงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วันนี้นักศึกษาจะไม่ได้อยู่เฉพาะในรั้ว มจธ. กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่นักศึกษาต้องรู้ว่า ขณะนี้โลกของพวกเขาได้เปิดกว้างออกไปแล้ว และมีหลายอย่างที่พวกเขาต้องเปิดประตูออกไปค้นหา ออกไปเรียนรู้ นี่คือสิ่งที่ มจธ.พยายามทำให้นักศึกษาเข้าใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวในตอนท้าย
www.newswit.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น