วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คดีคนจนกับกระบวนทัศน์ของกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม...

คดีคนจนกับกระบวนทัศน์ของกระบวนการยุติธรรม
ข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จากหนังสือเรื่องแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย “ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” โดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เมื่อ 14 พฤษภาคม 2554 ระบุว่า
“....ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ตอกย้ำและขยายความเหลื่อมล้ำจนเป็น “สองมาตรฐาน” นี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว เกิดขึ้นทั้งในกระบวนการที่จะเข้าถึงความยุติธรรม นับตั้งแต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย, ระงับข้อพิพาท, ไปจนถึงตัวกฎหมายและเนื้อหาแห่งความยุติธรรมที่เป็นผลบั้นปลาย หากไม่ปฏิรูป ความยุติธรรมในประเทศไทยจะเป็นความยุติธรรมแบบที่เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า “ความยุติธรรมของฝูงปลา...”
ข้อมูลจากเอกสารประกอบข้อเสนอขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในเวที “โครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 เวทีสัญญาประชาคม ประชาชนพบพรรคการเมือง” เมื่อ 24 มิถุนายน 2554 ระบุว่า
“ปัจจุบันมีผู้ติดคุกกว่า 2.4 แสนคนทั่วประเทศ เกือบทั้งหมดหรือเกิน 90 % เป็นคนจน ในจำนวนนี้มีผู้ถูกขังก่อนตัดสินคดี 50,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่ต้องคำพิพากษาแล้วแต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับจึงต้องจำขังแทน นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม และยังมีผู้ถูกคุมขังอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างยุติธรรม เพราะไม่มีเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี และมีอีกจำนวนมากที่หลักฐานในการต่อสู้คดี จำพวกร่องรอยทางธรณีวิทยา หลักฐานทางโบราณคดี ไม่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดี...”
บทความของ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง กระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความยากจนในสังคมไทย ได้สรุปความยากจนกับกระบวนการยุติธรรมว่า
“ตลอดช่วงเวลายาวนานแห่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สัมพันธภาพระหว่าง “คนยากจน” กับ “กระบวนการยุติธรรม” จัดว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเคียงคู่กันตลอดมา โดยผู้คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นลูกค้าของกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน และบ้างก็ใช้เป็นสถานที่พักพิงยาวนานทั้งชีวิต ซึ่งถ้าหากว่า “รัฐและสังคม” ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนยากจนทั้งหมดในสังคม ให้กลายเป็นคนที่ไม่ยากจนโดยทั่วหน้ากันแล้ว “กระบวนการยุติธรรม” ก็ควรจะต้องเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมีมนุษยธรรม เพื่อรองรับ “ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน” และจะต้องตระหนักโดยทั่วกันว่า “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งองคาพยพจะไม่แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการละเมิดสิทธิหรือกระทำการอย่างมีอคติต่อคนยากจนเหล่านี้เสียเอง”
คนจนกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้มีการถกเถียงทางสังคมกันมายาวนาน หลายรัฐบาลในอดีตได้ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เพื่อจัดการการรวมตัวของชาวบ้านที่ลุกขึ้นเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐแก้ไขปัญหา กลับถูกรัฐแจ้งข้อหาบุกรุก หรือซ่องโจร หรือทำลายทรัพย์สิน เป็นต้น
กระบวนทัศน์กระบวนยุติธรรมแบบเดิมที่มองผู้กระทำผิดเป็นอาชญากรร้ายแรงที่จะกำจัดออกไปจากสังคมด้วยการลงโทษให้หลาบจำ ไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงถูกนำมาใช้กับคดีคนจนเสมอมา
แต่ปัญหาความยากจนไม่ใช่ต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม การเรียกร้องขอความเป็นธรรม ตามสิทธิอันพึงได้พึงมี จึงไม่ชอบที่จะถูกรัฐตีความว่าเป็นการก่อความไม่สงบและต้องจัดการอย่างเด็ดขาด
ดังเช่น คนจนโดนฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมากที่ถูกจองจำ จนล้นคุกอยู่ขณะนี้ จึงต้องทบทวนกระบวนทัศน์ของกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของประเทศหรือไม่
บทความ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางเลือกในคดีอาญา” ของ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กล่าวถึง สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ โดยตั้งคำถามสำคัญๆ ที่รัฐและสังคมประเทศต่างๆ ต้องช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้ว่า เหตุใดจึงต้องนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ ทั้งๆ ที่มีกระบวนการยุติธรรมหลักอยู่แล้ว คำถามที่ว่า คือ
1.กระบวนการยุติธรรมหลักมีประสิทธิภาพที่จะลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ มากน้อยเพียงใด
2.กระบวนการยุติธรรมหลักได้กำหนดให้ “การกระทำผิด” กับ “สิ่งที่ผู้กระทำผิดควรจะได้รับ” เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่
3. กระบวนการยุติธรรมหลักมีต้นทุนที่สูงและมีประสิทธิผลคุ้มค่าหรือไม่
4. กระบวนการยุติธรรมหลักช่วยทำให้จำนวนอาชญากรรมในชุมชนลดลงหรือไม่
5. กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรมหลักช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดเพียงใด
สำหรับคดีคนจนที่ถูกลงโทษในกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนการใช้กระบวนทัศน์แบบเดิมที่ถูกท้าทายด้วยวาทกรรมสองมาตรฐานและความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างที่ผ่านมา เพื่อนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเข้ามาบูรณาการแก้ไขความยากจน ลดปัญหาทางสังคมโดยเร็ว.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม