บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ ‘M2+(tha)’
การประกาศคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย การมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง รวมถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘AA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/‘F1+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของบริษัท โดย SCBAM ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนรวมภายใต้การจัดการของ SCBAM ส่วนใหญ่ได้ถูกขายผ่านทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการโอนสายงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการกำกับและควบคุม และด้าน IT ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคคาลกรและทรัพยากรในสายงานดังกล่าว
อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังพิจารณาถึงการที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรทางด้านการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีการลาออกของอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนฝ่ายจัดการการลงทุนตราสารทุน รวมถึงกระบวนการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ที่ค่อนข้างคงที่ และผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของแผนก asset allocation นอกจากนี้ SCBAM ได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลัง (middle to back office) ซึ่งถึงแม้จะเกิดความล่าช้า แต่ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวก็ได้มีการดำเนินการแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้คุณภาพของระบบ IT ในส่วนของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน และการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ปัจจัยท้าทายหลักของ SCBAM คือความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ(AuM) ในขณะที่การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น ความจำเป็นในการลดอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานในสายการจัดการการลงทุนตราสารทุนและการปรับปรุงผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุน ปัจจัยท้าทายอื่นของบริษัทยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้าน IT ในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน
SCBAM ได้รับประโยชน์จากการที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ซึ่งทางธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการปฏิบัติงานและทางด้านการเงิน ถึงแม้ว่ากองทุนส่วนใหญ่ของ SCBAM จะเป็นกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุน บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในปี 2555 โดยการเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท (multi asset class) ซึ่งรวมถึงกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนผสมที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และกองทุนที่สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภท (risk target funds) นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นกลยุทธ์ customer centric โดยการยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางในการเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าสถาบันประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล ในด้านบุคลากร SCBAM มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ถึงแม้ว่ามีอายุงานกับบริษัทค่อนข้างสั้น ฟิทช์ยังมีข้อสังเกตว่าบริษัทมีอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานในสายการจัดการการลงทุนตราสารทุนที่สูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
กรอบนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงของ SCBAM อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งกรอบนโยบายดังกล่าวสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM และฝ่ายบริหารความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานและความเสี่ยงด้านการจัดการการลงทุน ฟิทช์ยังได้พิจารณาถึงการกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท แม้ว่าในส่วนการกำกับดูแลก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในบางขั้นตอน
จากการที่มีข่าวว่าอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนฝ่ายจัดการการลงทุนตราสารทุน และอดีตเจ้าหน้าที่ค้า หลักทรัพย์ของบริษัท อยู่ในระหว่างการถูกตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม SCBAM ได้ชี้แจงว่าทางบริษัทได้จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานของอดีตเจ้าหน้าที่ดังกล่าวและไม่พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของรายการ โดยอดีตเจ้าหน้าที่ทั้งสองมีอายุงานที่บริษัทประมาณ 6 เดือน ในขณะเดียวกัน ทาง SCBAM ได้เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการการลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการส่วนหนึ่งที่ทาง ก.ล.ต. จะออกบังคับใช้กับบริษัทจัดการกองทุนในกลางปีนี้
กระบวนการจัดการการลงทุนของ SCBAM ที่ผสมผสานระหว่างวิธีการวิเคราะห์แบบ top down และ bottom up อยู่ภายใต้การดูแลของประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน 2 ท่านและคณะกรรมการการลงทุน ฟิทช์มองว่าบริษัทมีกระบวนการวิเคราะห์เครดิตที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ตามจำนวนบุคลากรในฝ่ายยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ SCBAM ยังให้ความสำคัญต่อการวัดผลการดำเนินงานกองทุนโดยผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการกองทุนได้ทำการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ในความเห็นของฟิทช์ บริษัทยังคงต้องปรับปรุงในส่วนของความต่อเนื่องในกระบวนการลงทุนส่วนตราสารทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพนักงานในส่วนของสายงานดังกล่าว รวมถึงการปรับปรุงผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุน เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานของกองทุนได้ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2555
บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่แก่ลูกค้า ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทยและใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น ในปี 2555 SCBAM มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารและการให้ข้อมูลแก่ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทมีการทำการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกองทุนในเชิงลึก เช่น การแยกผลการดำเนินงานตามส่วนงาน การวัดตัวบ่งชี้ความเสี่ยง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว SCBAM ใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการภายใน
ในด้าน IT บริษัทได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีทรัพยากรทางด้าน IT จำนวนมาก SCBAM ได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลัง ซึ่งช่วยรองรับการลงทุนในตราสารที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ในปี 2555 บริษัทมีแผนที่จะทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนหน้า (front office) ซึ่งจะทำให้โครงการหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT เสร็จสมบูรณ์
SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 และเป็นบริษัทจัดการกองทุนในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ สินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทมีมูลค่ารวม 583 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 ของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ในประเทศและครอบคลุมหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยประมาณร้อยละ 67 เป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้และตราสารตลาดเงิน
อันดับบริษัทจัดการกองทุนที่ ‘M2+(tha)’ ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆ ในการจัดอันดับที่แสดงไว้ด้านล่าง โดยคะแนนเริ่มจาก 1 ถึง 5 ซึ่ง 1 เป็นคะแนนที่สูงที่สุด
บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศในหมวด ‘M2(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีความเสี่ยงต่ำต่อความล้มเหลวในการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน เมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นในประเทศไทย
อันดับบริษัทจัดการกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งนี้ การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับบริษัทจัดการกองทุนได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับ สามารถดูได้จากรายงานที่แสดงไว้ข้างล่างซึ่งสามารถหาได้จากเว๊บไซด์ของ ฟิทช์
www.newswit.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น