วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ซอฟต์แวร์พาร์ค ผนึก3ทัพไอทีขยายตลาดธุรกิจซอฟต์แวร์แดนปลาดิบ

นอกจากนี้ สวทช.ยังมีบทบาทสำคัญกำหนดเป้าหมาย และมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่สามารถรับมือกับสภาพปัญหาได้ทันเหตุการณ์ ทั้งในแง่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไปล่วงหน้า และการสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการบริการวิจัยให้เอกชน การรับจ้างทดสอบ หรือแม้กระทั่งการร่วมลงทุนตั้งบริษัทกับเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และโดยอาศัยองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ ที่ สวทช.ได้ริเริ่มดำเนินการไว้ และการทำงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานหลักๆ ในภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC 2015) ซึ่งจะมีการเชื่อมตลาดการค้าการลงทุนให้เป็นตลาดเดียว การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะข้ามชาติ การเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างประเทศ
ดังนั้น การลงนามความร่วมมือกับทาง MIJS (Made in Japan Software Consortium) จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับสมาคม ATCI (The Association of Thai ICT Industry) และ TSEP (Thai Software Export Promotion Association) ในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขยายตลาดการให้บริการซอฟต์แวร์ในทั้งสองประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ความถดถอยทางเศรษฐกิจ และเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น จากสถิติของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงว่า มีการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2555 ประมาณ 12% และส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 อีกทั้งซอฟต์แวร์พาร์คได้รับการติดต่อจากหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อขยายความร่วมมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของทั้งสองประเทศ ผ่านกิจกรรมการเจรจาทางการค้า การจับคู่ธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุน จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความสนใจ และต้องการหาคู่ค้าและพันธมิตรในธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศไทย
สำหรับในปีนี้ มีกิจกรรมความร่วมมือระหว่างซอฟต์แวร์พาร์คและหน่วยงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยการคัดเลือกนักพัฒนาของไทยเพื่อเดินทางไปฝึกงาน เรียนรู้ระบบการทำธุรกิจซอฟต์แวร์ในญี่ปุ่น รวมถึงสร้างเครือข่ายกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่ญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 เดือน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Inbound-outbound สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆ เช่น Kanagawa Information Service Industry Association (KIA) และ Made in Japan Software Consortium (MIJS) เป็นต้น
ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ กับทาง Made in Japan Software Consortium (MIJS) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนซอฟต์แวร์ญี่ปุ่น ที่รวมตัวกันเพื่อผนึกกำลังสร้างความร่วมมือในต่างประเทศ ประกอบด้วยสมาชิก 55 บริษัท แบ่ง software เป็น 3 ประเภทหลักคือ ด้าน Infrastructure, Marketing และ Human Resource Management จะทำให้เกิดการบูรณาการทางด้านการตลาด สร้างความร่วมมือในระดับองค์กร แลกเปลี่ยน know-how การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างเครือข่าย รวมถึงขยายช่องทางการตลาดซอฟต์แวร์ไทยไปตลาดญี่ปุ่นในอนาคต นอกจากนี้ในการบันทึกข้อตกลงร่วมมือกันในครั้งนี้ ได้มีหน่วยงานภาคเอกชนคือ สมาคมซอฟต์แวร์ไทย 2 สมาคมเข้าร่วมลงนามดังกล่าว ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (The Association of Thai ICT Industry: ATCI) และ สมาคมส่งเสริมการส่งออกซอฟต์แวร์ไทย (Thai Software Export Promotion Association) ซึ่งจะทำให้บริษัทสมาชิกของทั้งสองสมาคม ได้รับประโยชน์จากการความร่วมมือในระดับองค์กรดังกล่าว
นายมิโนะ คาซูโอะ Chief Director Made in Japan Software Consortium (MIJS) กล่าวว่า ประเทศไทยกับญี่ปุ่นถือมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยหวังว่าจะร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในเอเชีย และพัฒนาประเทศของตนเองให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศต่อไป
สำหรับความเป็นมาของ MIJS นั้นเป็นการรวมตัวกันของบริษัทซอฟต์แวร์หลายบริษัทที่มีแนวความคิดเหมือนกัน คือ อยากให้คนในหลายๆ ประเทศ ใช้ซอฟต์แวร์ญี่ปุ่นให้แพร่หลายมากขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกประจำ 19 บริษัท สมาชิกสมทบ 45 บริษัท พันธมิตรที่ทำสื่อมีเดีย 20 สื่อ และพันธมิตรอื่นๆ อีก 9 แห่ง โดยสมาชิกประจำส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่การผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง ซึ่งครอบคลุมทั้ง โปรแกรมฟร้อนท์เอนด์ โปรแกรมใช้งานทางธุรกิจ และระบบสนับสนุนการดำเนินงาน ส่วนสมาชิกสมทบก็เป็นบริษัทขนาดไอทีชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น NEC Hitachi และ Fujitsu เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา MIJS ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยได้เปิดสำนักงานที่ประเทศจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และในปี 2553 ได้ลงนามความร่วมมือกับ สมาคมซอฟต์แวร์เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไต้หวัน ในปี 2555 ก็ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับองค์การซอฟต์แวร์ของฮ่องกง
ทั้งนี้ ตลาดที่กลุ่ม MIJS สนใจมากที่สุดคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยเน้นการทำธุรกิจแบบเน้นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนกับพันธมิตรในประเทศไทย และคาดหวังในการประสบความสำเร็จในความร่วมมือครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันนี้จะทำให้เกิดการแลกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของทั้งสองประเทศต่อไป


www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม