-กฟผ. และคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ-คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พร้อมบูรณาการการจัดการน้ำในเขื่อน ย้ำได้สำรองช่องว่างในอ่างเก็บน้ำไว้แล้วหากมีปริมาณฝนมากในช่วงเดือน กรกฎาคม-ตุลาคม เน้นการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงฤดูฝน นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ณ ปัจจุบัน (28 มิถุนายน 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมด 33,953 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 7 หรือ -2,656 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังคงมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 22, ร้อยละ 12 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ขณะที่อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4 ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์น้ำในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2555 แตกต่างจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในปี 2554 เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายน ขณะที่ปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ปกติ และสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณร้อยละ 30-50 ของความจุ มีเพียงเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 60 แต่นับว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังมีช่องว่างสำหรับรองรับน้ำช่วงฤดูฝนได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม กฟผ. รวมทั้งคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ที่รัฐบาลโดย กบอ. แต่งตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการและกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากสภาพอากาศนั้นยากที่จะคาดการณ์ได้ในระยะยาว คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุดจึงมีการเชื่อมโยงและบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,474 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 22 หรือ -2,931 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 3,824 ล้าน ลบ.ม. และมีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 12,498 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 6,197 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19 หรือ -1,477 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,397 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 7,265 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 71 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายน้ำทั้งสิ้น 57 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 4,277 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 หรือ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 25 หรือ -1,454 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,427 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 5,233 ล้าน ลบ.ม. ม. ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 42 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายน้ำทั้งสิ้น 197 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มากนัก โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย อย่างไรดี เขื่อนสิริกิติ์ก็ยังมีโอกาสเสี่ยง หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากเหมือนปี 2554 ปี 2538 และปี 2518 ซึ่งเป็นปีที่มีสถิติน้ำไหลเข้าเขื่อนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจต้องระบายน้ำมากในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจึงได้พิจารณาวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์มากกว่าความต้องการใช้น้ำเล็กน้อย โดยให้คงการระบายน้ำตามแผนเดิมในอัตราวัน 28 ล้าน ลบ.ม. จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน แล้วปรับลดลงเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงวันที่ 1-7 กรกฏาคม สำหรับเขื่อนภูมิพลได้สำรองช่องว่างไว้ค่อนข้างปลอดภัย จึงให้คงการระบายน้ำตามความต้องการใช้น้ำวันละ 8-12 ล้าน ลบ.ม. ต่อไป จนกว่าคณะอนุกรรการฯ จะพิจารณาปรับเปลี่ยนตามสภาพฝนและความต้องการใช้น้ำในสัปดาห์หน้า ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า พายุโซนร้อน “ด็อกซูหริ” (Doksuri) บริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่กำลังเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ใกล้กับเกาะฮ่องกง ในวันที่ 30 มิถุนายน 2555 และจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนหนักได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำ กฟผ. ที่สำรองช่องว่างไว้แล้วจำนวนมาก มีความพร้อมที่จะรองรับน้ำเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุลูกนี้ได้.-สำนักข่าวไทย
www.mcot.net
วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
กฟผ.แจงอ่างเก็บน้ำมีช่องรองรับปริมาณน้ำเพียงพอ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น